คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเงื่อนไขข้อหนึ่งในสัญญายกที่ดินให้โจทก์ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยถือว่ามิได้มีข้อสัญญาข้อนี้ต่อกันโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนออกเสียจากสัญญานั้นได้
สัญญาให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นการยกให้โดยไม่มีมูลค่าตอบแทนใดๆ ย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน
จำเลยตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยมิได้อ้างเหตุผลประกอบว่าทำไมจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ในข้อไหนอย่างไร เป็นข้อตัดฟ้องที่ไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเงื่อนไขในสัญญายกที่ดินให้โจทก์ไม่เกี่ยวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างไร จึงต้องใช้อายุความทั่วไป มีกำหนด 10 ปี
สัญญาให้ที่ดินซึ่งคู่สัญญาทำขึ้นต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินไม่ใช่เอกสารมหาชนดังเช่นโฉนดที่ดิน แต่เป็นเอกสารสัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่ความมีสิทธิที่จะนำสืบหักล้างถึงความไม่สมบูรณ์ หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแสดงความจำนงขอมอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ในโฉนดเลขที่ 1022จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อใช้เป็นสถานีขนส่ง ต่อมาได้มีการเจรจาเพื่อตกลงกันเกี่ยวกับการรับโอนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตกลงยกที่ดินดังกล่าวให้โดยไม่มีเงื่อนไขอย่างใดครั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2511 จึงได้มีการจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับโอนที่ดินแปลงดังกล่าว ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายประเสริฐผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำหนังสือให้ที่ดินเป็นหลักฐานซึ่งไม่มีเงื่อนไขเป็นข้อที่ 3 แต่อย่างใด เมื่อนายประเสริฐได้รับโฉนดตามวันนัด ปรากฏว่าเกิดมีเงื่อนไขในสัญญาเป็นข้อที่ 3 ว่า “ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้รับให้ได้รับกันนี้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานีขนส่งรถยนต์โดยสารทุกเส้นทางการเดินรถแห่งเดียวซึ่งเหมาะสมและเพียงพอประจำจังหวัดเชียงใหม่ตลอดไปเขตติดต่อของที่ดินทั้งสองฝ่ายจะไม่กั้นแนวเขตและจะไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่น” การมีเงื่อนไขเพิ่มเติมภายหลังเป็นไปโดยมิชอบไม่ผูกพันโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพิกถอนเงื่อนไขในสัญญาในข้อ 3 ออกเสียถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยทั้งสองให้การว่า เงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 3 ได้กำหนดขึ้นในขณะทำนิติกรรม โจทก์ไม่อาจขอให้เพิกถอนเสียได้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้ตกลงยกที่ดินและสร้างสถานีขนส่งให้โจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1โจทก์จะขอบังคับจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพิกถอนเงื่อนไขในสัญญาให้ข้อ 3 ออ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ตามฎีกาข้อ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า เงื่อนไขข้อ 3 ไม่มีผลผูกพันโจทก์โดยถือว่ามิได้มีข้อสัญญาในข้อนี้ต่อกันแต่อย่างใด โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนเงื่อนไขข้อ 3 ออกเสียจากสัญญาให้ที่ดินได้

ฎีกาข้อ 2 เกี่ยวกับปัญหาว่า สัญญาให้ที่ดินตามเอกสาร ล.24เป็นสัญญาต่างตอบแทนหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นการยกให้โดยไม่มีมูลค่าตอบแทนใด ๆ ย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน เงื่อนไขข้อ 3 เป็นเพียงกำหนดหน้าที่หรือภาระผูกพันแก่โจทก์ในอนาคตเท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะเรียกเอาที่ดินคืนจากโจทก์ในรูปของสัญญาต่างตอบแทนแต่อย่างใด เมื่อฟังมาแล้วว่าภาระผูกพันตามเงื่อนไขข้อ 3 ไม่เป็นข้อสัญญาที่มีผลผูกพันโจทก์ ปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

ฎีกาข้อ 3 เกี่ยวกับปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ข้อตัดฟ้องของจำเลยในข้อนี้มิได้อ้างเหตุผลประกอบว่าทำไมจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมในข้อไหน อย่างไร เป็นข้อตัดฟ้องที่ไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว

ฎีกาข้อ 4 เกี่ยวกับปัญหาเรื่องอายุความ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีของโจทก์เป็นเรื่องบอกล้างโมฆียะกรรม จึงต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์หาได้เกี่ยวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมอย่างไรไม่ เพราะเป็นเรื่องปฏิเสธเงื่อนไขในสัญญาให้ที่ดินต่างหาก จำต้องใช้อายุความทั่วไป คือ มีกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ส่วนฎีกาข้อ 5 ในปัญหาเรื่องโจทก์มีสิทธินำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารมหาชนได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเงื่อนไขข้อ 3 อยู่ในสัญญาให้ที่ดินเอกสาร ล.24 ซึ่งเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน เอกสารเช่นนี้ไม่ใช่เอกสารมหาชนดังเช่นหน้าโฉนด แต่เป็นเอกสารสัญญาธรรมดาอย่างหนึ่งซึ่งคู่ความมีสิทธิที่จะนำสืบหักล้างถึงความไม่สมบูรณ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงตกไป

พิพากษายืน

Share