คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2404/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการโดยไม่ชอบไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและกระทำการขัดต่อพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน จนกระทั่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ทำให้โจทก์หมดสิทธิในการรับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในการรับราชการของโจทก์แม้โจทก์คำนวณจำนวนเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ ก็มีสภาพเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิดนั่นเอง ต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึง ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้เงินเป็นค่าบำนาญ 123,046 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระเงินเป็นค่าบำนาญให้โจทก์เดือนละ 1,034 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน โจทก์แถลงรับว่า ได้ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2522
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ปลดโจทก์ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และให้จำเลยร่วมกันจ่ายเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494ไม่ใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายพอสรุปความได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการไม่ชอบไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นการกระทำขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 จนกระทั่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ทำให้โจทก์หมดสิทธิในการได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในการรับราชการของโจทก์ แม้โจทก์อ้างการคำนวณจำนวนเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็มีสภาพเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิดนั่นเอง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share