คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจระบุไว้แจ้งชัดว่า บริษัทโจทก์โดย บ. ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงให้แก่ ณ. หรือ ส. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อจำเลยทั้งสองต่อศาลฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ ค้ำประกัน กรณีจึงเป็นการมอบอำนาจให้ ณ.หรือ ส. คนใดคนหนึ่งฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเท่านั้น กิจการที่ ณ. หรือ ส. กระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องจำเลยทั้งสองเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หาได้กระทำแยกกันต่างคนต่างฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งสองหรือฟ้องบุคคลอื่นอันมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ ส. จะเป็นผู้แต่งตั้งทนายความ และ ณ. เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่ากิจการที่บุคคลทั้งสองกระทำเป็นกิจการเดียวกัน จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ข้อ 7(ก) เมื่อโจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ 30 บาท จึงสมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 104และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ข้อ 7(ก) แล้ว หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายบรรเจิด เย็นมนัส ดำเนินคดีแทนและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โตโยต้าไปจากโจทก์ในราคา 348,300 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 8 โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถให้โจทก์ โจทก์ติดตามยึดรถคืนและนำออกประมูลขายได้เงินเพียง 190,500 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 189,541 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันที่เช่าซื้อ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญาโดยโจทก์มิได้ถือกำหนดระยะเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ โจทก์รับเงินค่างวดค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงงวดแต่กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ต้องวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจที่นายบรรเจิด เย็นมนัส ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มอบอำนาจช่วงให้นางกรรณิกา สุขสุดประเสริฐ หรือนายสมศักดิ์ รุ่งรัตนประเสริฐฟ้องจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายได้หรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ผู้รับมอบอำนาจช่วงสองคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันโดยนายสมศักดิ์เป็นผู้แต่งทนายความให้ทนายโจทก์ดำเนินคดีนี้ ส่วนนางกรรณิกาทำหน้าที่เบิกความเป็นพยานต่อศาล โจทก์มอบอำนาจช่วงให้บุคคลทั้งสองดังกล่าวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวและบุคคลทั้งสองต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกัน โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจช่วงคนละ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เพียง 30 บาท ไม่ครบ 60 บาท เป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ก) จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่ามีการมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องคดีนี้ไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้นเห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) โจทก์ โดยนายบรรเจิดเย็นมนัส ผู้รับมอบอำนาจขอมอบอำนาจช่วงให้แก่นางกรรณิกา สุขสุดประเสริฐหรือนายสมศักดิ์ รุ่งรัตนประเสริฐ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายสมชาย สัตยาภรณ์ นายธีระวัฒน์ ชูสอน เป็นจำเลยต่อศาลฐานผิดสัญญาเช่าซื้อค้ำประกัน เพื่อการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจ (ที่ถูกน่าจะเป็น เพื่อการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจ) ดังจะกล่าวต่อไปนี้ด้วยคือ ฯลฯ ข้อความที่ระบุไว้เช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้นางกรรณิกาหรือนายสมศักดิ์คนใดคนหนึ่งกระทำการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันคดีนี้เท่านั้น กิจการที่นางกรรณิกาหรือนายสมศักดิ์กระทำเป็นกิจการเดียวกันคือ ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นหาได้กระทำกิจการแยกกันต่างคนต่างฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งสองหรือฟ้องบุคคลอื่นอันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้นายสมศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงคนหนึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทนายความและนางกรรณิกาผู้รับมอบอำนาจช่วงอีกคนหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่ากิจการที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทั้งสองกระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ต่อจำเลยทั้งสองเท่านั้น จึงเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ก)เมื่อโจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จำนวน 30 บาทจึงสมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ก) แล้ว หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงฟังได้ว่าโจทก์โดยนายบรรเจิดผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงให้แก่นายสมศักดิ์ฟ้องคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share