คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 การนับเวลา ยื่นอุทธรณ์ 1 เดือน ต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 และสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ตามมาตรา 193/5 โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 28 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า 22 ฉบับ ออกไปนอกราชอาณาจักร แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการหลอกลวงโจทก์ โดยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่อ้างว่าส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกฯ ดังกล่าวจนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของ บัตรภาษี จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน จำเลยที่ 3 จึงได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชย ค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 3 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทน โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 แต่ฟ้องคดีวันที่ 5 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึง ขาดอายุความ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมูลละเมิดหรือไม่เท่านั้น เมื่อคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่าเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ลาภมิควรได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ลาภมิควรได้สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยที่ 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17, 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า เอกสารชุดคำขอที่โจทก์อ้างส่งเป็นเอกสารที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับบัตรภาษีและนำบัตรภาษีของโจทก์ไปใช้แล้วนั้น เป็นคำแก้อุทธรณ์ที่ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ 3 จึงเป็นข้อที่มิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 รับไปจากโจทก์ จึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาตามที่กำหนดไว้ในบัตรภาษีให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น และโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็น ผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนบัตรภาษีดังกล่าว หากคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ราคาและตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่รับบัตรภาษี
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ตามพฤติการณ์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษีเพราะมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ให้คืนบัตรภาษีเมื่อใด ถือว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คืนบัตรภาษีนับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๓๐ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้สำแดงข้อความเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ส่งออกสินค้าที่ผลิตใน ราชอาณาจักรไปต่างประเทศ และได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่อ้างว่าได้ส่งออกดังกล่าวนั้น ต่อโจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยออกบัตรภาษีระบุชื่อของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นเงินรวม ๓,๐๙๓,๑๗๕.๗๔ บาท ต่อมาเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๔ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าไม่มีการส่งออกสินค้าที่จำเลยที่ ๑ สำแดงรายการไว้ในใบขนสินค้าดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๑ ทำเอกสารการส่งออกเท็จเพื่อยื่นคำขอชดเชยค่าภาษีอากร โดยทุจริต จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จึงไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษี และต้องคืนบัตรภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้เพราะเหตุได้นำเอาไปใช้แล้วก็ต้องใช้ราคาคืนเงินตามมูลค่าในบัตรภาษีดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยร่วมกันคืนหรือ ใช้ราคาบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ได้รับบัตรภาษีโดยสุจริตและเชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าการออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ ๓ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นความบกพร่อง ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ซึ่งจำเลยที่ ๓ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งได้รับบัตรภาษีมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากรโดยสุจริตคืนบัตรภาษีและใช้เงินตามมูลค่าของบัตรภาษีแก่โจทก์ ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องนั้นคำนวณไม่ถูกต้อง คดีนี้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยที่ ๓ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนโจทก์ทราบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๔ แต่ฟ้องคดีวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรไม่ได้รับเงินชดเชยค่าภาษี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันคืนบัตรภาษีที่มีมูลค่าในบัตรรวม ๓,๐๙๓,๑๗๕.๒๔ บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ ว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน ๑ เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๔ ซึ่งการนับเวลายื่นอุทธรณ์ ๑ เดือน ต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓ และสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ตามมาตรา ๑๙๓/๕ ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จะครบกำหนดในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ ๓ ต้องคืนบัตรภาษีหรือเงินตามจำนวนมูลค่าบัตรให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้หรือไม่ และสิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า ๒๒ ฉบับ ออกไป นอกราชอาณาจักร แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นได้หลอกลวงโจทก์ โดยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่อ้างว่าส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า ๒๒ ฉบับ จนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบความจริงโจทก์จึงเรียกให้จำเลยที่ ๓ คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ ให้คืนเงินจำนวน ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ ๑ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษี จำเลย ที่ ๓ ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้โอน กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้รับสิทธิ ตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีจำนวน ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท จึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ ๓ จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ ส่วนปัญหาเรื่องอายุความนั้น เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ ขาดอายุความตามมูลละเมิดหรือไม่เท่านั้น เมื่อคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ฟังได้ว่าเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ลาภมิควรได้ จึงไม่มีกรณีที่ให้ต้องวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ลาภมิควรได้ขาดอายุความหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๙ เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยที่ ๓ จึงไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๑๗ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีได้ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๑๔๒ (๕) ส่วนที่จำเลยที่ ๓ แก้อุทธรณ์ว่า เอกสารชุดคำขอหมาย จ. ๑ แผ่นที่ ๒ ถึง ๑๖, ๒๖, ๓๑, ๗๕, ๘๗, ๑๒๔, ๒๐๐ และ ๒๐๙ เป็นเอกสารที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้รับบัตรภาษีและนำบัตรภาษีของโจทก์ไปใช้แล้วนั้น เป็นคำแก้อุทธรณ์ที่ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับบัตรภาษีที่มีมูลค่าจำนวน ๓๔๖,๐๙๙.๔๒ บาท และ ๑,๖๓๑,๔๘๗.๔๓ บาท ตามลำดับไปจากโจทก์แล้วหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในการยื่นคำขอชดเชยค่าภาษีอากรต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับสิทธิ ตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรจำนวน ๓๔๖,๐๙๙.๔๒ บาท และ ๑,๖๓๑,๔๘๗.๔๓ บาท ที่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ รับไปจากโจทก์ จึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า ๓๔๖,๐๙๙.๔๒ บาท และ ๑,๖๓๑,๔๘๗.๔๓ บาท ตามลำดับ หากคืนไม่ได้ ต้องชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๓๔๖,๐๙๙.๔๒ บาท และ ๑,๖๓๑,๔๘๗.๔๓ บาท ตามลำดับให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๓
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ จะต้องร่วมกันชดใช้ราคาตามมูลค่าของบัตรภาษีและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่า ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้า ที่ส่งออกนั้น ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลย ที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่หลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีจึงเป็น การกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกบัตรภาษีคืนจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นมูลหนี้ละเมิด จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงต้องคืนบัตรภาษีดังกล่าว หากคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ราคาและตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่รับบัตรภาษี ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ แม้ข้อเท็จจริง ฟังไม่ได้ว่าร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แต่การที่มีการออกบัตรภาษีโดยระบุชื่อจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้โอนบัตรภาษีให้นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มีนิติสัมพันธ์อย่างใดกับจำเลยที่ ๑ เหตุใด จึงสามารถรับโอนบัตรภาษีมาได้โดยง่าย ที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่า รับโอนบัตรภาษีมาโดยมีนายหน้าเป็นผู้ติดต่อ และกรรมการของจำเลยที่ ๓ ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาก่อนนั้น ตามหลักในเรื่องการโอนสิทธิในบัตรภาษี จะต้องขออนุมัติจากอธิบดีและกระทำก่อนการออกบัตรภาษี จึงเชื่อว่าจำเลยที่ ๓ จะต้องมีการติดต่อกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาก่อนที่จะมีการออกบัตรภาษีแล้ว นอกจากนี้ ตัวจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เป็นหญิงอายุเพียง ๒๓ ปี มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่จะแสดงให้เห็นว่าสามารถประกอบกิจการส่งออกสินค้าจนได้รับเงินชดเชย ค่าภาษีอากรเป็นจำนวนมากเช่นนั้น จากพฤติการณ์ดังกล่าวรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริต และเมื่อมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกบัตรภาษีคืนจากจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษี แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ให้คืนบัตรภาษีเมื่อใด ถือว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ คืนบัตรภาษีนับแต่วันฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๑,๑๑๕,๕๘๘.๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันรับผิดสำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวจากเงินต้นที่ระบุในบัตรภาษีแต่ละฉบับนับแต่วันที่จำเลยที่ ๓ ได้รับบัตรภาษีแต่ละฉบับไป และให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า ๓๔๖,๐๙๙.๔๒ บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๓๔๖,๐๙๙.๔๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันรับผิดสำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวจากเงินต้นที่ระบุในบัตรภาษีแต่ละฉบับ นับแต่วันที่จำเลยที่ ๔ ได้รับบัตรภาษีแต่ละฉบับไป และให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า ๑,๖๓๑,๔๘๗.๔๓ บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๑,๖๓๑,๔๘๗.๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันรับผิดสำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวจากเงินต้นที่ระบุในบัตรภาษีแต่ละฉบับ นับแต่วันที่จำเลยที่ ๕ ได้รับบัตรภาษีแต่ละฉบับไป และให้จำเลยที่ ๕ ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share