คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7-8/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาจะกระทำตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เข้าใจดีอยู่แล้วว่า ในที่สุดก็จะต้องมีการดำเนินคดีในศาลเป็นการต่อเนื่องกันไป การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยมิชอบย่อมเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ ทำให้กระบวนพิจารณาในศาลไม่อาจดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมได้ ต้องถือว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งแม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1จะมิใช่คู่ความ แต่การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการได้แก่การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยประการหนึ่ง กับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกประการหนึ่ง เฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่จะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นหาได้มีข้อจำกัดดังที่ถูกกล่าวหาที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ได้
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษและศาลไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม ทั้งเป็นการชักจูงให้เยาวชนกระทำผิดเพื่อผลประโยชน์ของผู้กล่าวหาที่ 1 เอง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดแก่อนาคตของเยาวชน มิใช่เป็นการกระทำเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาและถูกผู้อื่นชักจูงให้หลงเชื่อ จึงไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ทั้งสองสำนวนเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1724/2541 และ 1725/2541 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติการประมง ในวันฟ้องศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ทั้งสองสำนวนฟัง จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนก่อนมีคำพิพากษาส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ โดยแถลงว่าถูกว่าจ้างให้รับเป็นจำเลยแทนผู้กระทำผิด และเมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาของคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวศาลชั้นต้นได้อ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฟังแล้ว จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้ถ้อยคำมีความหมายไปในทำนองปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง แต่ถูกว่าจ้างให้รับเป็นจำเลยแทนผู้กระทำผิด ศาลชั้นต้นจึงไต่สวนจำเลยทั้งเจ็ดทั้งสองสำนวนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและนัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ว่าจ้างบุคคลอื่นให้รับเป็นผู้กระทำผิดในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติการประมง โดยเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาล ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 จากทางไต่สวนยังไม่ได้ความว่ามีส่วนรู้เห็นหรือร่วมกระทำการกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงให้ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ไป

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และมาตรา 33 (ที่ถูกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษและพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)และมาตรา 33 นั้น ชอบแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกาว่า บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวไม่อาจนำมาปรับแก่กรณีตามฟ้องได้ เพราะเหตุการณ์ในคดีนี้มิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล และเกิดก่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความ และได้กระทำการสับเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรมาแล้ว มิได้มาสับเปลี่ยนตัวที่ศาลนั้นข้อเท็จจริงรับฟังได้จากคำเบิกความของผู้ต้องหาที่ 1 ในชั้นไต่สวนเรื่องละเมิดอำนาจศาลว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เช่าเรือกุญชรโชคมาใช้ทำการประมงออกหาปลาในทะเลแล้วเรือดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมเรือวิไลทรัพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ว่าจ้างบุคคลอื่นมาเป็นผู้ต้องหาแทนลูกเรือในประมงทั้งสองลำดังกล่าวรวม 14 คนนำไปส่งมอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งตะโกเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาจะกระทำตั้งแต่ในชั้นสอบสวนก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เบิกความมานั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เข้าใจดีอยู่แล้วว่า ในที่สุดก็จะต้องมีการดำเนินคดีในศาลเป็นการต่อเนื่องกันไป การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยมิชอบดังกล่าวนั้นเห็นได้ว่าย่อมเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ ทำให้กระบวนพิจารณาในศาลไม่อาจดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมได้ จึงต้องถือว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งแม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะมิใช่คู่ความ แต่การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยประการหนึ่ง กับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกประการหนึ่ง เฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่จะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 30 ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นหาได้มีข้อจำกัดดังที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะมิใช่คู่ความและมิได้อยู่ต่อหน้าศาลก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษและศาลไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม ทั้งเป็นการชักจูงให้เยาวชนกระทำความผิดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เอง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดแก่อนาคตของเยาวชน มิใช่เป็นการกระทำเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาและถูกผู้อื่นชักจูงให้หลงเชื่อดังที่ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share