คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมมากที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง เมื่อผู้ตายมิได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพ และทายาทก็มิได้ มอบหมายให้บุคคลใดจัดการทำศพ โจทก์จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตายตามบทกฎหมายดังกล่าว
โจทก์จัดการทำศพไปแล้วย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพจากกองมรดกได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1650 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดการทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253 (2) การที่โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 253 (2) ประกอบมาตรา 1739 (2) จึงมีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวตามส่วนแต่ต้องไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนายดาบตำรวจทวิช ทิพระษาหาร จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาของนายดาบตำรวจทวิช ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นบุตรของนายดาบตำรวจทวิช เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙ นายดาบตำรวจทวิชถึงแก่ความตาย โจทก์จัดการปลงศพของผู้ตายเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ๑๖๐,๐๐๐ บาท โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสามชำระเงินคืนแก่โจทก์คนละ ๔๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินคนละ ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยแต่ละคนจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกไม่เคยสัญญาว่าจะชำระเงินในการจัดการทำศพ การจัดการทำศพ นายดาบตำรวจทวิชไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสาม แต่เป็นเพียงประเพณีที่บิดามารดา ภริยา และบุตรต้อง จัดการงานศพ ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสามรวมทั้งญาติพี่น้องต่างช่วยเหลือค่าใช้จ่ายร่วมกัน โจทก์ออกเงินค่าทำศพเป็นความสมัครใจของโจทก์เอง จำเลยที่ ๑ กับพวกไม่มีหน้าที่ต้องใช้คืนแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมารดาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หย่ากับนายดาบตำรวจทวิชผู้ตายเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้กระทำละเมิดให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์สมัครใจจัดการทำศพเองและจัดเกินฐานานุรูป ค่าใช้จ่ายที่โจทก์กล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่เคยทำสัญญาว่าจะชำระค่าจัดการทำศพ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่แยกแยะว่าได้ใช้จ่ายเงินช่วยงานในเรื่องอะไร จำนวนเท่าใด และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๑) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระหนี้ค่าจัดการทำศพให้โจทก์ และแม้จำเลยที่ ๒ มิได้ยื่นอุทธรณ์ด้วยก็ตาม แต่การชำระหนี้ดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่านายดาบตำรวจทวิช ทิพระษาหาร ผู้ตาย มีทายาทโดยธรรมคือโจทก์ซึ่งเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ตายมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการทำศพ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า แม้ผู้ตายจะมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือเป็นผู้จัดการทำศพไว้หรือทายาทมิได้ตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายก็ตาม แต่ทายาททุกคนของผู้ตายต่างก็ต้องหน้าที่เท่า ๆ กัน ที่จะต้องจัดการทำศพของผู้ตาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๙ วรรคสอง เมื่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้จัดการทำศพของผู้ตาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทก็จะต้องร่วมรับผิดในค่าใช้จ่ายนี้ด้วยตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔๙ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ ผู้จัดการมรดกซึ่ง ผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้ จัดการดังว่านั้น และวรรคสองบัญญัติว่า ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพหรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิ โดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควร ตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตายไว้ตามลำดับดังนี้ คือ ผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งไว้ เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งผู้อื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการทำศพ ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพไว้โดยเฉพาะหรือทายาท มิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิ โดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ดังนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคน คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยชอบธรรมมากที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตายนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อนึ่งปรากฏว่าผู้ตายมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือให้เป็นผู้จัดการทำศพ และ ทายาทผู้ตายก็มิได้มอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ โจทก์มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำศพของผู้ตายตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔๙ เมื่อโจทก์จัดการทำศพผู้ตายไปแล้วย่อมมีสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายใน การจัดการศพจากกองมรดกได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิ์ที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕๓ (๒) แห่งประมวลกฎหมายนี้” การที่โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ตามบทกฎหมายข้างต้นประกอบมาตรา ๑๗๓๙ (๒) จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทให้ร่วมรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวตามส่วน แต่รับผิดไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เช่นกัน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น อนึ่ง จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้อุทธรณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายเป็นจำนวนเกินสมควรและคดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ ประกอบมาตรา ๒๔๗
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิจารณาและพิพากษาใหม่ในประเด็น เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการศพและคดีโจทก์ขาดอายุความตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ รวมสั่งเมื่อพิพากษาคดีใหม่

Share