แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
วัดผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาท แต่การครอบครองตึกแถวพิพาทยังเป็นของโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้เช่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2ในฐานะผู้โอนมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 546 ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่าแก่โจทก์ที่ 1 และสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ที่ 2 กับวัดยังมีผลบังคับอยู่ เมื่อจำเลยพักอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงและให้จำเลยออกไปแล้วจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องหรือร่วมกับโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยได้ การที่โจทก์ที่ 1 ต้องทำสัญญาเช่ากับวัดโดยตรงเป็นเพียงต้องการตัดปัญหาเกี่ยวกับสัญญาเช่าอันจะเกิดขึ้นในภายหน้าเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าตึกแถว3 ชั้นครึ่ง เลขที่ 72 ซอยปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานครจากวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร มีกำหนด 20 ปี ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2539 โจทก์ที่ 2โอนสิทธิการเช่าตึกแถวเลขที่ดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่ากับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยและประกอบการค้าในตึกแถวดังกล่าวได้เพราะจำเลยและบริวารยังอาศัยอยู่โดยอ้างสิทธิตามสัญญาเช่ากับโจทก์ที่ 2โจทก์ทั้งสองให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่า จำเลยได้รับแล้วแต่เพิกเฉยทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 72 ซอยปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งส่งมอบตึกแถวดังกล่าวให้โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 466,662 บาทกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 22,222 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกจากตึกแถวพิพาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 2 โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถว 3 ชั้นครึ่งเลขที่ 72 ซอยปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับสิ่งมอบตึกแถวเลขที่ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในศาลชั้นต้น โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท 3 ชั้นครึ่ง เลขที่ 72 ซอยปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร จากวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร มีกำหนด 20 ปีในระหว่างอายุการเช่าได้ให้จำเลยเช่าช่วงมีกำหนด 1 ปี เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากวันปทุมคงคาราชวรวิหาร มีกำหนดอีก20 ปี ต่อจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิการเช่าที่เหลืออีก 11 ปี 7 เดือน แก่โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่ากับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารเรียบร้อยแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาเช่ากับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารโดยตรงแล้ว โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งมอบตึกแถวพิพาทให้โจทก์ที่ 1 และไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ที่ 1 เพื่อให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1ควรเรียกวัดปทุมคงคาราชวรวิหารเข้าร่วมเป็นโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาท และเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 โดยตรงนั้น เห็นว่า แม้วัดปทุมคงคาราชวรวิหารจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาท แต่การครอบครองตึกแถวพิพาทยังเป็นของโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้เช่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้โอนก็ย่อมต้องมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 546 ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วแก่โจทก์ที่ 1 เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ที่ 2 กับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารยังมีผลบังคับอยู่เมื่อจำเลยพักอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 2 เช่นนี้ การที่โจทก์ที่ 2ได้บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงและให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทแล้วจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องหรือร่วมกับโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยได้การที่โจทก์ที่ 1 ต้องทำสัญญาเช่ากับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารโดยตรงนั้นก็เพียงเพื่อต้องการตัดปัญหาเกี่ยวกับสัญญาเช่าอันจะพึงมีเกิดขึ้นในภายหน้าเท่านั้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง