คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียวจะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี อันเป็นเงินตามสิทธิในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ แล้ว ถือว่าโจทก์เลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อจำเลยด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องศาลแรงงานอีกจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด เมื่อปรากฏว่าระหว่างที่พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันนี้ไปยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางอีก ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ดังกล่าว
การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมนั้นเป็นการฟ้องเรียกตามสิทธิในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมิใช่ฟ้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโส ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ80,300 บาท จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทำการจดทะเบียนตั้งบริษัทควีซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านระบบคุณภาพเช่นเดียวกับกิจการของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการกระทำการที่เป็นปฏิปักษ์และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่สอบสวนความผิดก่อนจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงไม่สามารถหางานใหม่ทำได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน149,893.33 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 8,030 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 10,706.67 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน481,800 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 963,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินดังกล่าวทุกรายการนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยทุกระยะ 7 วันด้วย

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ได้ดำเนินการเป็นคู่แข่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โดยได้จัดตั้งบริษัทคิวซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัดซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจการในด้านการให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล การจัดฝึกอบรมการตรวจประเมินระบบคุณภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกิจการของจำเลยที่เป็นนายจ้างและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดร้ายแรง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องสอบสวนจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์จดทะเบียนตั้งบริษัทคิวซีดีแมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัทดังกล่าวยื่นประมูลงานแข่งกับจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย แต่เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างและไม่ถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 481,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 อันเป็นวันเลิกจ้างจนถึงวันชำระเสร็จ ค่าจ้างเป็นเงิน 50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 10,706.67บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่าภายหลังจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2543 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 โจทก์ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้เพื่อขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์อีก รวมทั้งเรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่โจทก์นำมูลกรณีที่ถูกจำเลยเลิกจ้างไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ขณะอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์นำมูลกรณีเดียวกันนี้ไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 123 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน…” แสดงว่าเมื่อเข้ากรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติแล้วกฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา 123 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานเพื่อให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125 บทบัญญัติตามมาตรา 123 ดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือ จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่แล้ว ก็ยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติในระหว่างนั้น ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ขอให้บังคับบริษัทแอลวีเอ็ม(เอเชีย) จำกัด จำเลยคดีนี้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นเงินตามสิทธิในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์เลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อจำเลยคดีนี้ด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุดเมื่อปรากฏว่าต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 ระหว่างพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันไปยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้อีกเพื่อขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์เช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไว้ ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาในส่วนนี้ให้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการฟ้องเรียกตามสิทธิในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิใช่ฟ้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในส่วนนี้ได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share