คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วันนัดสืบพยานโจทก์ ระหว่างผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยได้พูดต่อหน้าผู้พิพากษา ทนายจำเลยและพยานว่า “ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” และเมื่อผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังพูดต่ออีกว่า “ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” เป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งมิใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ไม่เป็นหมิ่นประมาท
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแม้ศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามว่า “ทนายแบบนี้ใช้ไม่ได้ทั่วประเทศไทยมีทนายแบบนี้คนนี้คนเดียวที่ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งผม ความจริงเป็นอย่างไรเขารู้ดีทุกอย่าง แล้วยังหาเรื่องแกล้งฟ้องผม ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ถ้ายังมีทนายประเภทนี้อยู่” และ “ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังได้ว่า โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีแพ่งที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หลังจากโจทก์นำนางสาวปิยาภา มั่นจิรังกูร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในคดีดังกล่าวเข้าเบิกความจนแล้วเสร็จ ระหว่างผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยได้พูดต่อหน้าผู้พิพากษา นายภูวงศ์ โพธิ์ไทร ทนายจำเลย และนางสาวสุวรรณา จำปาไทร ว่า “ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” และเมื่อผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังพูดต่ออีกว่า “ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เห็นว่าข้อความที่จำเลยพูดดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียวโดยเฉพาะเหตุคดีนี้เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีของศาลขณะที่ผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยอยู่ในภาวะถูกกดดันเป็นอย่างมากการที่จำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวจึงน่าจะเป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้ง หาใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังไม่ ไม่เป็นหมิ่นประมาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องพอมีมูล ที่ศาลชั้นต้นจะประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้พิจารณากันมาในศาลชั้นต้นคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share