แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองโต้แย้งเพียงว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของผู้ร้องที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ร้องที่ 2 มิได้โต้แย้งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 2 ด้วย ข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องที่ 2จึงยุติเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เพราะในชั้นอุทธรณ์ผู้ร้องที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 2 ดังนั้น ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 1 แต่ผู้เดียว ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 1เมื่อผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันโดยยังไม่มีการแบ่งสินสมรส ทรัพย์พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ 1แต่ผู้เดียวไม่ ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ให้โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญ 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 145 ไร่ บ้านไม้ 1 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว กับโอ่งน้ำ 6 ใบ และเสาไม้แก่น10 ต้น ของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้นเป็นของผู้ร้องทั้งสอง ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว โจทก์ให้การว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องที่ 1 ทำมาหาได้ร่วมกันมาในระหว่างที่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้ร้องที่ 2 หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วม ผู้ร้องที่ 1 จะต้องรับผิดด้วย ผู้ร้องที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่12 มิถุนายน 2528 เพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไม่ให้โจทก์บังคับคดีขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินพิพาท ยกคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์อื่น ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองคงโต้แย้งเพียงว่าบ้าน โอ่งน้ำ และเสาไม้แก่นพิพาทเป็นของผู้ร้องที่ 1 แต่ผู้เดียวผู้ร้องที่ 2 มิได้โต้แย้งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 2ด้วย ข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องที่ 2 ตามคำร้องจึงยุติลงเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 เพราะในชั้นอุทธรณ์ผู้ร้องที่ 2 ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 2 ดังนั้น ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องที่ 1 แต่ผู้เดียว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ว่า บ้าน โอ่งน้ำและเสาไม้แก่นพิพาทเป็นของผู้ร้องที่ 1 แต่ผู้เดียวหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2504… บ้านพิพาทปลูกขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2517 ถึง พ.ศ. 2524 หลังจากที่ผู้ร้องที่ 1 ซื้อที่ดินแปลงที่ปลูกบ้านมาเมื่อ พ.ศ. 2517 แล้ว จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องที่ 1และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสกันได้มาระหว่างสมรส อันเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) เมื่อผู้ร้องที่ 1มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรส และเมื่อผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน เมื่อยังไม่มีการแบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสนั้นจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ 1 แต่ผู้เดียวไม่…ดังนั้น โอ่งน้ำ และเสาไม้แก่นพิพาทซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึด ถือได้ว่าอยู่ในความครอบครองของเจ้าของบ้านดังกล่าว เมื่อผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบ้านพิพาท โอ่งน้ำ และเสาไม้แก่นพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกันด้วย เมื่อผู้ร้องที่ 1 มิได้นำสืบว่าโอ่งน้ำและเสาไม้แก่นเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องที่ 1 ได้มาหลังจากจดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโอ่งน้ำและเสาไม้แก่นพิพาทเป็นของผู้ร้องที่ 1แต่ผู้เดียว”
พิพากษายกฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 1