คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภรรยาได้ประกาศรับมรดกที่ดินของสามีแล้วโอนขายให้บุคคลอื่นแม้จะปรากฏว่าภรรยามิได้จดทะเบียนสมรสก็ดี แต่ได้มีการไหว้ผีตามประเพณีและอยู่ร่วมกันโดยเปิดเผยจนมีบุตรด้วยกัน 3 คน การที่โอนขายให้แก่บุคคลผู้นั้นก็เนื่องจากสัญญาเดิมที่สามีได้ทำไว้ ซึ่งเป็นการชอบด้วยศีลธรรม เมื่อภรรยามาประกาศรับมรดก โจทก์ก็ไม่มาคัดค้านปล่อยให้ภรรยารับมรดกมาโอนขายแก่บุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นรับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรม ดังนี้ ย่อมได้ชื่อว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5จะมาขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสายพี่ชายโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินนาร่วมกับโจทก์คนละครึ่ง แต่ยังไม่ได้แบ่งกันเป็นส่วนสัด นายสายและภริยาถึงแก่ความตาย ที่ส่วนของนายสายตกได้แก่บุตร คือ นายน้อยนายน้อยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำนาส่วนของนายน้อย ต่อมานายน้อยตายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายของนายน้อย ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ประกาศรับมรดกในนามของจำเลยที่ 1 แล้วทำสัญญาซื้อขายให้จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยเป็นโมฆะ เพราะทำสัญญาซื้อขายโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย ลงชื่อโจทก์รับมรดก และขับไล่จำเลยจำเลยที่ 1 ให้การสมฟ้องว่าถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวง จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าจำเลยได้รับซื้อไว้โดยสุจริต มีค่าตอบแทน และจำเลยได้ใช้สิทธิครอบครอง นานเกินกว่า 10 ปี ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของศาลชั้นต้นฟังว่า นายสายขายเฉพาะส่วนของตนซึ่งแยกปกครองกับโจทก์เป็นสัดส่วนแล้ว หาเกี่ยวกับส่วนที่เป็นของโจทก์ไม่ จึงไม่เป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังว่านายสายขายนาส่วนของนายสายให้แก่นายมีจำเลยที่ 2 แต่ทำไม่ถูกแบบ ส่วนในทางครอบครอง จำเลยก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทางครอบครองในข้อที่นางปุ่นจำเลยที่ 1 โอนขายให้นายมีจำเลยที่ 2 ตอนหลังนางปุ่นไม่มีสิทธิรับมรดกนายน้อย นายมีรับโอนจากนางปุ่นก็ไม่มีสิทธิดีกว่านางปุ่นพิพากษากลับ ให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า นายมีไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทางครอบครองมาก่อนจดทะเบียนซื้อจากนางปุ่น ส่วนที่นางปุ่นประกาศรับมรดกนายน้อยแล้วโอนขายให้นายมีจำเลยนั้น แม้นางปุ่นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายน้อยก็ดี แต่นางปุ่นได้กับนายน้อยโดยมีการไหว้ผีตามประเพณีและอยู่ร่วมกันโดยเปิดเผย จนมีบุตรด้วยกัน 3 คน การที่มาโอนขายให้นายมี ก็เนื่องจากสัญญาเดิมที่นายสายทำไว้กับนายมีเป็นการชอบด้วยศีลธรรม เมื่อนางปุ่นมาประกาศรับมรดก โจทก์ก็ไม่มาคัดค้านปล่อยให้นางปุ่นรับมรดกมาโอนขายให้แก่นายมี ๆ รับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คือให้เงินเพิ่มแก่นางปุ่นอีก 400 บาทแล้วโจทก์จึงกลับมาขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้น ดังนี้ ย่อมได้ชื่อว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 จะมาขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share