แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 5 ตามคำพิพากษาจำนวนเงิน175,322 บาท 63 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ 5มีรายได้สุทธิจากกิจการของจำเลยที่ 5 เพียงปีละ 60,000 บาท โดยรายได้ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่แน่นอนผู้ร้องจึงไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงในขณะยื่นคำร้อง จึงมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่โจทก์ยึดทรัพย์จำเลยที่ 5 ไว้ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยแต่ละสำนวนร่วมกันใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ในสำนวนแรกจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 5 ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ย โจทก์คัดค้าน
ในการไต่สวนโจทก์และผู้ร้องตกลงให้ศาลวินิจฉัยจากคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 5 กับพวกขอให้เป็นบุคคลล้มละลายเอกสารหมาย ร.1 เป็นข้อชี้ขาด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามเอกสารหมาย ร.1 จำเลยที่ 5 ยังดำเนินกิจการอยู่และมีรายได้สุทธิถึงปีละ 60,000 บาท ถือว่าจำเลยที่ 5 ยังมีทรัพย์สินอื่นอีก จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่เอกสารหมาย ร.1 ระบุว่า จำเลยที่ 4 ยังมีรายได้อีกปีละ 60,000 บาทนั้น เห็นว่า รายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ในอนาคตที่ผู้ร้องไม่อาจจะยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาในขณะที่ผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ ส่วนที่โจทก์และผู้ร้องแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 มีทรัพย์อื่นที่ผู้ร้องจะยึดได้หรือไม่โดยวินิจฉัยเอาจากคำพิพากษาศาลแพ่งที่ปรากฏในเอกสารหมาย ร.1 โดยโจทก์และผู้ร้องไม่สืบพยานนั้น เห็นว่า คำแถลงที่ว่ามีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะยึดนั้นมีความหมายว่าจะยึดมาเพื่อชำระหนี้ผู้ร้องโดยสิ้นเชิงด้วย เมื่อปรากฏตามคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 5 ตามคำพิพากษาจำนวนเงิน 175,322 บาท 63 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2521 จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ดังนั้นรายได้สุทธิจากกิจการของจำเลยที่ 5 เพียงปีละ 60,000 บาท ผู้ร้องจึงไม่สามารถเอาชำระหนี้ผู้ร้องในปัจจุบันได้โดยสิ้นเชิงและรายได้ดังกล่าวก็เป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่แน่นอน ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่โจทก์ยึดทรัพย์จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ผู้ร้องได้
พิพากษากลับ