คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11605/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถซึ่งด้านหน้าระบุว่าต้องเสียค่าจอดรถชั่วโมงละ 10 บาท และหากทำบัตรจอดรถหายจะต้องถูกปรับ 200 บาท โดยต้องนำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดงให้แก่โจทก์และยินยอมให้โจทก์นำรถเข้าไปจอดในลานจอดรถของห้างฯ จำเลยที่ 2 เมื่อคนร้ายลักรถยนต์โดยขับรถฝ่าพนักงานรักษาความปลอดภัยออกไปด้วยความเร็วและไม่คืนบัตรจอดรถให้แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแจ้งเหตุหรือสกัดจับ กลับรอกระทั่งโจทก์กลับมาจึงแจ้งให้ทราบ การกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นละเมิด และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถยนต์ดังกล่าวด้วย เนื่องจากเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ
แม้โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์เก๋งที่ถูกคนร้ายลักไปโดยครอบครองรถยนต์เก๋งในฐานะเป็นเพียงหลักประกันการกู้ยืมเงิน แต่โจทก์ก็มีสิทธิใช้และมีหน้าที่บำรุงรักษารถยนต์เก๋งเพื่อส่งมอบคืนให้แก่เจ้าของ เมื่อจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งถูกคนร้ายโจรกรรมไปในระหว่างที่โจทก์ครอบครองใช้สอยอยู่โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์เก๋งคันดังกล่าว ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 586,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 422,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546 โจทก์ขับรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า แบบซีวิค สีแดง หมายเลขทะเบียน วต 8504 กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายสมพงษ์ เช่าซื้อมาจากบริษัทจีอีแคปปิตอล ออโต้ลีส จำกัด (มหาชน) และส่งมอบให้นางสิริวิภาเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ไปจอดในบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าเฉลิมไทยช๊อปปิ้งมอลล์ของจำเลยที่ 2 ต่อมาปรากฏว่ารถยนต์เก๋งคันดังกล่าวถูกคนร้ายโจรกรรมไปและทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถสูญหายไปด้วย โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชลบุรี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนของรถยนต์เก๋งหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์และนางสิริวิภาไม่ได้ทำสัญญากู้เงินกันจริงและนางสิริวิภาไม่ได้ส่งมอบรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์มีตัวโจทก์และนางสิริวิภา เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2546 นางสิริวิภากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 500,000 บาท โดยนำรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า แบบซีวิค สีแดง หมายเลขทะเบียน วต 8504 กรุงเทพมหานคร มอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน กำหนดใช้เงินคืนภายใน 1 ปี คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้เงิน รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวเป็นของนายสมพงษ์ จงงามวิไล ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัทจีอีแคปปิตอล ออโต้ลีส จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสมพงษ์กู้ยืมเงินนางสิริวิภาโดยมอบรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวแก่นางสิริวิภาเป็นประกัน แล้วนางสิริวิภามอบให้โจทก์เป็นประกันอีกทอดหนึ่ง โดยได้รับความยินยอมจากนายสมพงษ์แล้ว เห็นว่า โจทก์และนางสิริวิภาต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันถึงการกู้ยืมเงินและส่งมอบรถยนต์เก๋งให้เป็นประกันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญากู้เงินมาแสดง แม้โจทก์ไม่นำหลักฐานการได้มาของเงินให้กู้ยืมและหลักฐานการเบิกเงินจากธนาคารมาแสดง กับไม่ได้นำนายสมพงษ์มาเบิกความยืนยันก็ตาม ย่อมเป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะนำพยานหลักฐานใดมาสืบ ส่วนที่ไม่มีการแจ้งให้บริษัทจีอีแคปปิตอล ออโต้ลีส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อทราบว่ารถยนต์เก๋งคันดังกล่าวถูกคนร้ายโจรกรรมไปนั้น เห็นว่า ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ส่งชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้ออยู่แล้ว หากแจ้งให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบว่ารถยนต์เก๋งที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดคืนรถยนต์เก๋งที่เช่าซื้อหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมกับค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญา การที่โจทก์ นางสิริวิภาหรือนายสมพงษ์ไม่ได้แจ้งให้บริษัทจีอีแคปปิตอล ออโต้ลีส จำกัด (มหาชน)ผู้ให้เช่าซื้อทราบ น่าจะเป็นเพียงไม่ต้องการให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบเรื่องที่รถยนต์เก๋งที่เช่าซื้อถูกโจรกรรมไปเท่านั้น หาได้เป็นพิรุธตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใดไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นางสิริวิภากู้ยืมเงินโจทก์โดยส่งมอบรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวให้ยึดถือเป็นประกัน และแม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ก็มีสิทธิใช้และมีหน้าที่บำรุงรักษารถยนต์เก๋งคันดังกล่าวเพื่อส่งมอบคืนให้แก่นางสิริวิภา เมื่อจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวถูกคนร้ายโจรกรรมไปในระหว่างที่โจทก์ครอบครองใช้สอยอยู่ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์เก๋งคันดังกล่าว ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนของสิ่งของภายในรถยนต์เก๋ง ได้แก่ รองเท้าคัชชูหนังแก้วขอบหนา ราคา 1,900 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ราคา 17,900 บาท และรองเท้ากีฬา ราคา 2,300 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 22,100 บาท ต่อโจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ขณะที่รถยนต์เก๋งถูกโจรกรรม มีทรัพย์สินเป็นเงินสด 4,200 บาท และกล้องถ่ายภาพดิจิตอล ราคา 29,900 บาท เพียงสองรายการเท่านั้นอยู่ภายในรถยนต์เก๋ง ซึ่งหลังกระทำละเมิดโจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีโดยระบุว่ามีทรัพย์สินสองรายการดังกล่าวสูญหายไป โดยไม่ระบุว่ามีรองเท้าคัชชูหนังแก้วขอบหนา โทรศัพท์เคลื่อนที่และรองเท้ากีฬาแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีใบเสร็จรับเงินของทรัพย์สินทั้งสามรายการดังกล่าวมาแสดง แต่ก็ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวมีอยู่ภายในรถยนต์เก๋งขณะถูกโจรกรรม พยานหลักฐานโจทก์คงรับฟังได้เพียงว่าขณะกระทำละเมิดมีเงินสด 4,200 บาท และกล้องถ่ายภาพดิจิตอลอยู่ภายในรถยนต์เก๋งเท่านั้น ซึ่งการที่ทรัพย์สินดังกล่าวสูญหายไปเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งให้ชำระทรัพย์สินในส่วนนี้ และกรณีมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าทรัพย์สินเป็นเงินจำนวน 22,100 บาท ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นเป็นประเด็นปลีกย่อยและไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share