คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุอ้างแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 4 โดยมิได้อ้างคำว่า “มาตรา” ไว้ด้วย น่าจะเป็นการพิมพ์ผิดหลงเมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติเพียง 11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวเท่านั้น ที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษเอาไว้ ส่วนมาตราอื่นๆ ล้วนบัญญัติในเรื่องอื่นไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด ทั้งในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ซึ่งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ โดยชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์
โจทก์ฟ้องโดยระบุชัดแจ้งว่าจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกจากกัน ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดสองกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ และใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลย โดยพิพากษาแก้ไขโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุกกระทงละ 3 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นคำพิพากษาที่แก้ไขมากและไม่เป็นผลร้ายต่อจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2546 เวลากลางวันจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาสงขลา 2 ฉบับ ฉบับแรก เลขที่ 041xxxx ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2547 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ฉบับที่ 2 เลขที่ 041xxxx ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2547 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเมื่อเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารตามเช็ค เพื่อเรียกเก็บเงินตามระเบียบ และวิธีการของธนาคาร แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 หลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือในขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึ่งให้ใช้เงินได้ หรือให้ใช้เงินจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ขณะที่ออกเช็คนั้น หรือถอนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะให้ใช้เงินตามเช็คนั้นได้ หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเหตุเกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 897/2548 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 897/2548 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 897/2548 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณา จึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ระบุหรืออ้างมาตรา 4 ไว้ด้วย ถือว่าโจทก์ไม่ได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ระบุว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุอ้างแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 4 โดยมิได้อ้างระบุคำว่ามาตราไว้ด้วย น่าจะเป็นกรณีพิมพ์ผิดหลง ทั้งเมื่อพิเคราะห์พระราชบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่ามีบทบัญญัติไว้เพียง 11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวเท่านั้น ที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ส่วนมาตราอื่น ๆ ล้วนบัญญัติในเรื่องอื่นไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด ทั้งในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ทั้งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ และในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง คือ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นเอง กรณีไม่อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ในมาตราอื่นได้อีก นอกจากในมาตรา 4 ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้อ้างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง กับในคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ครบถ้วนตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยจำเลยเข้าใจดีและไม่หลงต่อสู้และจำเลยให้การรับสารภาพย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) แล้ว คำฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยรวมสองกรรมให้เรียงกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นการพิพากษาที่แก้ไขมากและเป็นผลร้ายต่อจำเลย เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า คดีนี้ ทั้งโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ก็ได้อุทธรณ์เรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดกรรมเดียว ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาวินิจฉัย เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีสิทธิยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องโดยระบุชัดแจ้งในคำฟ้องว่าจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกจากกัน ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดสองกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ และใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลยโดยพิพากษาแก้ไขโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นคำพิพากษาที่แก้ไขมากและไม่เป็นผลร้ายต่อจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง เป็นเช็คจำนวน 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 300,000 บาท ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2548 หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยชำระเงินให้โจทก์อีก ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้ใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลย พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็ไม่ได้ชำระเงินให้โจทก์เพิ่มเติม กรณีไม่มีเหตุอันควรแก้ไขโทษเป็นอย่างอื่นหรือรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share