คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ และแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลย ผู้เสียหายและนางสาวนวลวรรณ เพื่อนของผู้เสียหายไปเที่ยวที่ร้านธนบุรีคาเฟ่ ขณะที่นั่งในผับซึ่งอยู่ที่ชั้น 3 จำเลยดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่เหน็บไว้ในกระเป๋ากระโปรงด้านหลังวิ่งลงมาแล้วโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงบริเวณชานพักบันได และถูกพนักงานของร้านธนบุรีคาเฟ่จับตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาวรัตนา ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 21 นาฬิกา พยานและนางสาวนวลวรรณ เพื่อนของพยานไปทางอาหารที่ร้าน ป. กุ้งเผา จนกระทั่งเวลาประมาณ 24 นาฬิกา พบจำเลยซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเข้ามานั่งคุยกับนางสาวนวลวรรณ ต่อมาเวลา 24.15 นาฬิกา พยานและนางสาวนวลวรรณจะไปเที่ยวกันต่อที่ร้านธนบุรีคาเฟ่ จำเลยขอตามไปด้วย จึงพากันนั่งรถแท็กซี่ไปที่ร้านธนบุรีคาเฟ่เมื่อเข้าไปในผับที่ชั้น 3 ขณะที่กำลังหาที่นั่งจำเลยฉกฉวยโทรศัพท์เคลื่อนที่ของพยานแล้ววิ่งหนี พยานวิ่งตามและตะโกนขอความช่วยเหลือ จำเลยโยนโทรศัพท์ทิ้งที่ชานพักบันไดชั้น 3 แล้ววิ่งหนีลงไปชั้นล่างจนกระทั่งถูกจับตัวได้ เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะเบิกความในทำนองว่าไม่รู้จักคุ้นเคยกับจำเลย แต่ก็ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ขณะที่พยาน นางสาวนวลวรรณและจำเลยโดยสารรถแท็กซี่ไปร้านธนบุรีคาเฟ่ พยานนั่งคู่กับจำเลยที่เบาะหลังและให้จำเลยถือโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ การที่ผู้เสียหายกับจำเลยนั่งคู่กันที่เบาะหลังโดยให้นางสาวนวลวรรณซึ่งผู้เสียหายอ้างว่าจำเลยเข้ามาที่โต๊ะเพื่อจีบนางสาวนวลวรรณนั่งที่เบาะหน้า ประกอบกับได้ความตามบันทึกคำให้การของนางสาวนวลวรรณซึ่งจัดทำขึ้นในวันเกิดเหตุว่าขณะเดินเข้าไปในผับที่ชั้น 3 ของร้านธนบุรีคาเฟ่ จำเลยเดินจับเอวผู้เสียหายเข้าไปย่อมบ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยพูดคุยกันจนรู้จักคุ้นเคยกันตั้งแต่อยู่ที่ร้าน ป. กุ้งเผาจนถึงร้านเกิดเหตุ อีกทั้งผู้เสียหายยังให้ความสนิทสนมและไว้ใจจำเลยให้ช่วยเหลือโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ตั้งแต่โดยสารรถแท็กซี่มาจนถึงร้านที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอยู่กับจำเลยเป็นเวลานานเพียงพอที่หากจำเลยมีเจตนาทุจริตต้องการเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปจริง จำเลยก็คงไม่รอมากระทำการในผับซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ทั้งยังมีพนักงานบริการและพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ตามจุดต่างๆ ซึ่งยากที่จะเอาไปและหลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย กรณีอาจเป็นไปได้ว่า ที่จำเลยดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปจากกระเป๋ากระโปรงแล้วโยนทิ้งที่ชานพักบันไดไปนั้น ก็เพราะเกิดจากอารมณ์โกรธที่ได้ยินเสียงผู้ชายโทรศัพท์เข้ามาตามที่จำเลยนำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปโดยเจตนาทุจริตเพื่อต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายมาเป็นของตนอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชายพักบันได จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายอย่างไรตามที่ผู้เสียหายเบิกความ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ก็ตาม แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วยจึงถือไม่ได้ว่า ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share