คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องทั้งสามทราบประกาศการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามโดยชอบ และทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันขายทอดตลาดแล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสามมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยทั้งสองตกลงชำระเงิน 5,600,000 บาท แก่โจทก์ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2544 จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์จึงบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3164 ตำบลกระทุ่มราย (เจียระดับ) อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 30/4 ของจำเลยที่ 2 ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้องทั้งสามและนางฮามีเดาะ เพื่อออกขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคา 2,247,600 บาท ต่อมาผู้คัดค้านประมูลซื้อได้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ในราคา 7,550,000 บาท
ครั้นวันที่ 7 มีนาคม 2549 ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด และให้ขายทอดตลาดเฉพาะที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2
โจทก์และผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3164 ตำบลกระทุ่มราย (เจียระดับ) อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 30/4 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 เสีย และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินกระบวนวิธีการบังคับใหม่ตามกฎหมายต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์และผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 4,500 บาท
ผู้ร้องทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามเป็นการร้องขอว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสามเป็นประการแรกว่า ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติว่า “การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น…” ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดก็ได้ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ยื่นคำร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์การดำเนินการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากทางไต่สวนของผู้ร้องทั้งสาม และฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องทั้งสามทราบประกาศการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามโดยชอบ และทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันขายทอดตลาดแล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสามมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นที่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share