แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจะโอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้จำเลยเมื่อจำเลยชำระเงินค่าสิทธิการเช่างวดสุดท้ายแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินงวดสุดท้าย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาซึ่งก็ต้องให้จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมและต้องคืนเงินที่รับไว้แล้วให้แก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ขอให้นำมาหักจากเงินที่ต้องคืนให้แก่จำเลยเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกจากจำเลยในคดีนี้ และมิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งในเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวและขอหักไว้ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์ร่วมและทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้จำเลยโดยให้ชำระเป็น 3 งวด จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 2 งวด และเข้าอยู่ในตึกแถวพิพาทแล้ว แต่ไม่ชำระเงินงวดที่ 3 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาให้จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาท จำเลยไม่ยอมออกและไม่ชำระเงินงวดที่เหลือขอให้บังคับจำเลยออกจากตึกแถวพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่จำเลยชำระไปแล้วหากโจทก์ไม่โอนสิทธิการเช่าแก่จำเลยต้องคืนเงินที่รับไปแล้วแก่จำเลยและโจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 60บาท ขอให้โจทก์คืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย โจทก์และโจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยผิดสัญญาค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องพอสมควรแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินที่ชำระแล้วคืนศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาท ให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากตึกแถวพิพาท ให้โจทก์ใช้เงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทให้จำเลยตามเอกสารหมายจ.4 หรือ ล.1 ในราคา 220,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวดงวดแรกจำนวน 50,000 บาท ชำระในวันทำสัญญา งวดที่ 2 จำนวน100,000 บาท โจทก์ได้รับแล้ว งวดที่ 3 จำนวน 70,000 บาท ชำระภายในเดือนธันวาคม 2526 จะทำการโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยต่อเมื่อได้ชำระเงินงวดที่ 3 แล้วจำเลยไม่ได้ชำระเงินงวดที่ 3 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยโดยชอบแล้วถึงแม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391จะบัญญัติไว้ว่าต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งคืนสู่ฐานะเดิมก็จริง แต่จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวน 150,000 บาทคืนพร้อมดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ เพราะตึกแถวพิพาทตอนให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยยังอยู่ในสภาพดีมาก แต่ขณะนี้มีสภาพเก่ามากเพราะจำเลยและบริวารไม่ดูแลรักษาอย่างวิญญูชนทั่วไป และทางราชการได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินซึ่งอยู่ใกล้ตึกแถวพิพาทนี้ อันทำให้ราคาตึกแถวพิพาทลดลง หากจะโอนสิทธิการเช่าต่อให้บุคคลอื่นก็จะไม่ได้ในราคา 220,000บาท โจทก์เสียหายมาก ขณะโจทก์เข้าครอบครองตึกแถวพิพาทพบว่ามีการทำลายบันไดภายใน ท่อประปา ตู้กระจก และจำเลยได้ค้างค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า รวมแล้วประมาณ 30,000 บาทเศษซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลย จำเลยยอมใช้ให้ และที่ฎีกาว่าโจทก์ต้องเสียเงินเป็นค่าโอนสิทธิการเช่าและต่อเวลาเช่าให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน35,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งโจทก์ได้เอาจากเงินจำนวน150,000 บาทที่รับจากจำเลยชำระให้โจทก์ร่วม โจทก์ต้องมีสิทธิหักเงิน 35,000 บาท และค่าเสียหายตามคำพิพากษาออกจากเงินจำนวน 150,000 บาทด้วยซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กัน โจทก์จึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 150,000 บาทได้ขอพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิริบเงินจำนวน 150,000 บาทของจำเลยได้นั้นเห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญา ก็ต้องให้จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์ต้องคืนเงินจำนวน150,000 บาทให้แก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยจึงมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้ ส่วนความเสียหายที่โจทก์กล่าวมาในฎีกา และขอให้ศาลนำค่าเสียหายตามที่อ้างมาหักจากเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เห็นว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกจากจำเลยในคดีนี้และโจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยในเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวและขอหักไว้ ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าถ้าจะให้เช่าตึกแถวพิพาทจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชดใช้ให้จนกว่าจำเลยจะส่งมอบตึกแถวให้แล้ว ความเสียหายตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกาจึงเป็นคนละเรื่องกัน มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องตามกันมาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน