คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกหนังสือที่โจทก์ขอให้ศาล มีคำสั่งเรียกขึ้นมาวินิจฉัยว่าหนังสือดังกล่าวระบุไว้ชัดว่า โจทก์มอบที่ดินตามประกาศเรื่องมีผู้ขอจับจองที่ดินให้แก่ กรมป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการและสาธารณชนโดยทั่วไปแล้ว เป็นการอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ในราชการ กรมป่าไม้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอ แก่การวินิจฉัยทั้งแม้หากฟังได้ว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของ กรมป่าไม้ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ใน ระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์ อยู่ก่อนย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิได้ดังนั้นศาลอุทธรณ์จะด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มี สิทธิครอบครองในที่ดินตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ ปัญหาที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่และโจทก์ขาดสิทธิ ในการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์ ยังไม่ได้วินิจฉัยมา แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงมา เสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ไปเสียเองก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การกำจัด สิทธิฎีกาของคู่ความศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาพิพากษาปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบเหยียบย่ำ เนื้อที่ 30 ไร่เศษ ต่อมาปี 2527 ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ยโสธรขอให้โจทก์สละที่ดินดังกล่าวให้แก่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ยโสธรโดยจะให้เงินค่าตอบแทน จำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 72 เมื่อปี 2529 จำเลยฟ้องขับไล่กรมป่าไม้กับพวกให้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 391/2529 ของศาลชั้นต้น เมื่อคดีถึงที่สุด จำเลยกลับขอให้บังคับคดีแก่ที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามใบเหยียบย่ำเล่มที่ 1 หน้า 2 ตำบลดู่ทุ่ง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินมีใบเหยียบย่ำตามฟ้องจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 106เนื้อที่ 30 ไร่แต่ปัจจุบันเนื้อที่ที่แท้จริง 38 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา เป็นคนละแปลงกับที่ดินตามใบเหยียบย่ำของโจทก์ หากฟังว่าที่ดินตามใบเหยียบย่ำของโจทก์ตรงกับที่ดินตาม ส.ค.1 ของจำเลย จำเลยก็มีสิทธิดีกว่า เพราะจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2492 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หรือแม้จะฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบเหยียบย่ำจริงคดีโจทก์ก็ขาดอายุความ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามใบเหยียบย่ำเล่มที่ 1 หน้า 2ตำบลดู่ทุ่ง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 30 ไร่เศษเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกหนังสือฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2534 ในเอกสารแยกเก็บที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมาขึ้นมาวินิจฉัยว่า หนังสือดังกล่าวระบุไว้ชัดว่าโจทก์มอบที่ดินตามประกาศเรื่องมีผู้ขอจับของที่ดินฉบับที่ 14/2494 ให้แก่กรมป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการและสาธารณชนโดยทั่วไปแล้ว เป็นการอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ในราชการกรมป่าไม้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามฟ้องอีกต่อไป และไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการด่วนวินิจฉัย ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย ทั้งหากฟังได้ว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของกรมป่าไม้ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิได้ ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาอื่นที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และโจทก์ขาดสิทธิในการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งครอบครองหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยมา แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียเองก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาปัญหาดังกล่าว”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share