แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้นำเสาปูนมาปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะไม่ให้รถยนต์ของโจทก์ผ่านทางพิพาทไปยังที่ดินของโจทก์ซึ่งประกอบกิจการโรงสีและเลี้ยงเป็ด ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่15 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางพิพาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2535 ว่า โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเพียง30 วัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2535เป็นเวลาถึง 135 วันจึงเป็นเวลาพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้นำเสาปูน 2 ต้น มาปักในทางสาธารณะจากตำบลหลักสองไปสู่วัดชัยมงคล ซึ่งกว้างประมาณ10 เมตร ตรงบริเวณทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 5623 ของจำเลยทั้งสองที่ทางสาธารณะตัดผ่านตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นการกีดขวางทางเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 9296ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถนำข้าวเปลือกเข้าไปสีที่โรงสีของโจทก์ และไม่สามารถนำอาหารเข้าไปเลี้ยงเป็ดในที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้จากกิจการโรงสีและขาดรายได้จากกิจการเลี้ยงเป็ด โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันดังกล่าวถึงวันฟ้องรวมค่าเสียหายเป็นเงิน 372,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนเสาปูนออกจากทางสาธารณะ และห้ามจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางสาธารณะตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 372,000 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเป็นเงินวันละ 12,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางสาธารณะ
จำเลยทั้งสองให้การว่า บริเวณที่จำเลยทั้งสองนำเสาหินไปปักไว้อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งไม่มีทางสาธารณะตัดผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินส่วนบุคคล โจทก์เคยขอใช้เป็นทางเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์แต่ต่อมาโจทก์นำรถยนต์ขนาดใหญ่ผ่านเข้ามา จำเลยทั้งสองห้ามปราม แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงนำเสาหินไปปักไว้ในที่ดินของจำเลยทั้งสองเพื่อไม่ให้โจทก์เข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางพิพาทตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ห้ามจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางพิพาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5623 โดยซื้อมาเมื่อปี 2534 ที่ดินของจำเลยทั้งสองด้านทิศเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9295 ทิศใต้ติดต่อกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 9296 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9295มีทางสาธารณะสายวัดชัยมงคลไปวัดหลักสองตัดผ่านจากทางทิศเหนือไปสุดที่ดินทางทิศใต้และมีแนวถนนเชื่อมจากทางสาธารณะดังกล่าวต่อไปอีก 2 ทาง ทางหนึ่งเป็นทางพิพาทเป็นแนวตรงไปทางทิศใต้กว้างประมาณ 8 เมตร ผ่านที่ดินของจำเลยและของโจทก์ซึ่งอยู่ติดต่อกันไปสุดที่ลำรางสาธารณะซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นวัดชัยมงคล ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นทางแยกไปทางทิศตะวันตกระหว่างแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 9295 ทางทิศใต้กับแนวเขตที่ดินของจำเลยทางทิศเหนือไปจนถึงสะพานข้ามคลองจางวางซึ่งมีทางต่อไปจนถึงโรงเรียนวัดชัยมงคลและวัดชัยมงคล กับเชื่อมถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2534จำเลยทั้งสองได้นำเสาปูน 2 ต้นมาปักไว้ในทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสอง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางสาธารณะหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นถนนแนวตรงตัดผ่านที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าวัดชัยมงคลและเป็นทางที่เจ้าของที่ดินซึ่งถนนดังกล่าวตัดผ่านรวมทั้งโจทก์และนายสายัณห์เจ้าของที่ดินเดิมของจำเลยทั้งสองได้ยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ ส่วนเส้นทางซึ่งแยกไปทางโรงเรียนวัดชัยมงคลและไม่ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเส้นทางที่สร้างเพิ่มเติมภายหลัง ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าไม่มีทางสาธารณะตัดผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสอง ไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะที่นายสายัณห์เจ้าของที่ดินเดิมได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินบางส่วนให้ไว้ก่อนที่จะมีการโอนที่ดินแปลงนั้นต่อ ๆ มายังจำเลยทั้งสอง
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดนั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้นำเสาปูนมาปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะไม่ให้รถยนต์ของโจทก์ผ่านทางพิพาทไปยังที่ดินของโจทก์ซึ่งประกอบกิจการโรงสีและเลี้ยงเป็ด ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินวันละ 200 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางพิพาทและศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืนในส่วนนี้นั้น ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2535 ว่า โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเพียง 30 วันการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2535เป็นเวลาถึง 135 วัน จึงเป็นการพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งศาลพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนถึงวันฟ้องได้วันละ200 บาท เพียง 30 วัน เป็นเงิน 6,000 บาท และให้ค่าเสียหายวันละ 200 บาท ดังกล่าวได้ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางพิพาทเท่านั้น แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 27,000 บาท และค่าเสียหายอีกเป็นเงินวันละ 200 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางพิพาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3