แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะ ร. ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ร. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ. เป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์ หรือถอนคำร้องทุกข์ใด ๆ ต่อพนักงานสอบสวนในกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญาต่อทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งกระทำการใด ๆ เพื่อให้กิจการดังกล่าวสำเร็จ และในตอนท้ายของหนังสือมอบอำนาจยังระบุว่าการเคหะแห่งชาติยอมรับผิดตามที่ พ. ได้กระทำไปภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบทุกประการ การมอบอำนาจของ ร. จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปในนามของการเคหะแห่งชาติโจทก์ร่วม แม้ พ. ไปร้องทุกข์คดีนี้เมื่อ ร. พ้นตำแหน่งไปแล้ว หนังสือมอบอำนาจก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ พ. จึงมีอำนาจร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 83, 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา การเคหะแห่งชาติ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 (2) (3) ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางรตยา ทำหนังสือมอบอำนาจ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 โดยขณะนั้นนางรตยาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีข้อความระบุว่า ให้นางพจนี ผู้รับมอบอำนาจ เป็นผู้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ หรือถอนคำร้องทุกข์ใด ๆ ต่อพนักงานสอบสวนในกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญาต่อทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของสำนักงานเคหะชุมชนร่มเกล้า รวมทั้งกระทำการใด ๆ เพื่อให้กิจการดังกล่าวสำเร็จลงได้ อีกทั้งยังได้ระบุในตอนท้ายของหนังสือมอบอำนาจว่า การเคหะแห่งชาติยอมรับผิดตามที่นางพจนี ผู้รับมอบอำนาจ ได้กระทำไปภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบทุกประการ การมอบอำนาจของ นางรตยา จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไป และกระทำในขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติโจทก์ร่วม หนังสือมอบอำนาจที่ นางรตยา ทำขึ้นจึงเป็นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วม แม้นางพจนีจะไปแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535 ซึ่งขณะนั้นนางรตยาจะพ้นตำแหน่งไปแล้วก็ตาม หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ถือเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย นางพจนีจึงมีอำนาจร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยได้
พิพากษายืน.