คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ใช้ชื่อและชื่อสกุลโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นลักษณะบ่งเฉพาะที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่มีความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 7(1)โดยโจทก์โฆษณาสินค้าของโจทก์โดยใช้คำว่า RYKIEL เป็นเครื่องหมายการค้าจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้กันแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศคำว่าRYKELจึงเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนคำว่า RYKELซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งชุดว่า RYKELHOMMEBIS ขึ้นเปรียบเทียบกับคำว่า RYKIELที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งชุดว่า SONIARYKIEL ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่าคล้ายหรือเหมือนกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าจึงเป็นการชอบแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำว่า RYKIEL และ RYKELแล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะตัวอักษรที่ใช้และการเรียงตัวเหมือนกันคงแตกต่างกันที่จำนวนตัวอักษรและคำทั้งสองยังมีสำเนียงการอ่านหรือเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกันว่า “ไรเคิ้ล” หรือ”ไรเคล”เมื่อเสียงเรียกขานส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยพ้องกับเสียงเรียกขานส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วย่อมก่อให้สาธารณชนที่เลือกซื้อสินค้าซึ่งจะรับฟังเสียงเรียกขานเป็นสำคัญเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3),8(11) และ 13ของผู้ยื่นคำขอ รวมทั้ง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534เป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าจะรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยคำขอของบุคคลอื่นที่ยื่นเข้ามาเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนการค้านั้นๆนายทะเบียนฯจึงเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเป็นผู้ที่โต้แย้งสิทธิของผู้เสียประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือผู้คัดค้านโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องนายทะเบียนฯ ห้ามรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 38 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอเลขที่ 220099 เครื่องหมายที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า RYKEL HOMME BIS หรือ RYKEL ห้ามมิให้จำเลยที่ 1ใช้เครื่องหมายอักษรโรมัน ที่เขียนว่า RYKEL HOMME BIS หรือ RYKEL กับสินค้าที่จำเลยที่ 1 วางจำหน่ายหรือผลิตขึ้นเองโดยเด็ดขาด
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้ยื่นไว้ตามคำขอเลขที่ 220099 สำหรับเครื่องหมายที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า RYKEL HOMMEBIS หรือ RYKEL และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายอักษรโรมันดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่วางจำหน่ายหรือผลิตขึ้นเอง
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า SONIA RYKIEL สำหรับสินค้าชุดเสื้อกันหนาวชุดสตรี ชุดชั้นใน เสื้อคลุม เสื้อเชิ้ต กระโปรง กางเกงขายาว เป็นต้น โดยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศทั่วโลก ในบางประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพียงคำ RYKIEL เท่านั้น เมื่อปี 2528 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SONIA RYKIEL ในประเทศไทยจำหน่ายสินค้าของโจทก์เรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า RYKEL HOMME BIS สำหรับสินค้าเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อลำลอง กระโปรงและกางเกงขายาว ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าที่โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว ทั้งนี้จำเลยที่ 1แจ้งสละสิทธิที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า HOMME BIS แต่เพียงผู้เดียว โจทก์ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จึงให้ยกคำคัดค้านตามเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ยกอุทธรณ์โจทก์แล้วให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1เอกสารหมาย ล.12 (ข้อ 3.10) และ จ.15 แต่เนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น คดีเฉพาะเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เท่านั้นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า SONIA RYKIEL ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันว่า RYKEL HOMME BIS จึงมีคำขึ้นต้นไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนต้องใช้คำประกอบกันทั้งชุดไม่สามารถแยกใช้คำต่างจากที่ขอจดทะเบียนได้ ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย คำว่า SONIA RYKIEL ก็ดี เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ใช้ในการประกอบการค้าคำว่า RYKIEL HOMME หรือคำว่าRYKIEL ก็ดีจึงไม่มีทางคล้ายกันทั้งรูปลักษณะและการเรียกขานกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนทั้งการที่จะเลือกเอาเครื่องหมายการค้าบางส่วนมาเปรียบเทียบกันแล้ววินิจฉัยว่ามีรูปลักษณะคำออกเสียงเรียกขานเหมือนใกล้เคียงกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยน่าจะไม่ถูกต้อง เครื่องหมายการค้าของโจทก์และที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้า จึงไม่อาจห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า เมื่อคดีได้ความตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ว่า คำว่า HOMME BIS เป็นคำสามัญที่ใช้ในการค้าขายทั่วไปและจำเลยที่ 1 มิได้ถือสิทธิเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเสียแล้ว สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนจึงอยู่ที่คำว่า RYKEL อันเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่มีความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาได้ซึ่งจากหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ออกให้แก่โจทก์คำว่าSONIA RYKIEL เอกสารหมาย จ.4 เห็นได้ว่า โจทก์ใช้ชื่อและชื่อสกุลของโจทก์คือนางโซเนียแอนเน็ตท์ ไรเคิ้ล บอร์น ฟลิส (Mrs.SONIA ANNETTE RYKIEL-BORN FLIS)มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นลักษณะบ่งเฉพาะที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่มีความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7(1) โดยโจทก์นำสืบว่าในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น บางครั้งโจทก์จะใช้เพียง RYKIEL เพียงคำเดียว เช่นตามใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 จะใช้ว่า RYKIEL HOMME ทั้งโจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าRYKIEL ไว้ในต่างประเทศอีกด้วยตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6และ จ.16 ดังนี้ย่อมแสดงว่าโจทก์ได้โฆษณาสินค้าของโจทก์โดยใช้คำว่า RYKIELเป็นเครื่องหมายการค้าจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้กันแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ถือได้ว่าคำว่า RYKIEL เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ที่ขอจดทะเบียนคำว่า RYKELซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งชุดว่าRYKEL HOMME BIS ขึ้นมาเปรียบเทียบวินิจฉัยกับคำว่า RYKIEL ที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งชุดว่า SONIA RYKIEL ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่าคล้ายหรือเหมือนกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าหรือไม่จึงเป็นการชอบแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำว่า RYKIEL และ RYKELแล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะตัวอักษรที่ใช้และการเรียงตัวเหมือนกัน คงแตกต่างกันที่จำนวนตัวอักษรเท่านั้นโดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไม่มีอักษร I แต่ทั้งสองคำนี้มีสำเนียงการอ่านหรือเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกันว่า “ไรเคิ้ล” หรือ “ไรเคล” เมื่อเสียงเรียกขานส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ที่ขอจดทะเบียนไปพ้องกับเสียงเรียกขานส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเช่นนี้ ย่อมก่อให้สาธารณชนที่เลือกซื้อสินค้าซึ่งจะรับฟังเสียงเรียกขานเป็นสำคัญเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้านั้นได้ว่าเป็นของโจทก์หรือของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จึงต้องห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้จำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3), 8(11) และ 13 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะเพียงวินิจฉัยคำคัดค้านเท่านั้น ไม่มีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะปฏิเสธหรือรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนอีกคนหนึ่งอยู่ต่างสังกัดกับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ตามกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการยื่นฟ้องคดีไว้ชัดแจ้งว่า “ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยฟ้องคดีต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ” เนื่องจากคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังไม่ยุติต้องให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงจะยุติ ก่อให้เกิดสิทธิยื่นฟ้องคดีได้ ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรงคือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหาใช่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่นั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะปฏิเสธหรือรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง สำหรับข้อต่อสู้ที่ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ หาใช่จำเลยที่ 2 นั้นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534เป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าจะรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ยื่นคำขอรวมทั้งวินิจฉัยคำขอของบุคคลอื่นที่ยื่นเข้ามาเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ด้วยจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้าน ที่จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์แล้วให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ต่อไปตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ที่ได้ยื่นคำขอไว้นั้นเอง ส่วนการที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 37 วรรคสอง ให้ผู้เกี่ยวข้องที่เสียประโยชน์จากการวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาการรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสิ้นสุดลงเท่านั้น ซึ่งเมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว มีความเห็นอย่างไรก็ย่อมแจ้งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไปดังนั้น ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของผู้เสียประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือผู้คัดค้านก็คือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าห้ามรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ที่ขอจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 38 วรรคสองดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและมีคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share