คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ. ซึ่งในขณะที่โจทก์จดทะเบียนให้ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าว พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้ายการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่าให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1)…(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่อย่างไรก็ตาม การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ว่าจะเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป การที่โจทก์จดทะเบียนให้ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสน่หา จะถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีเทศบาล ตามแบบ ภธ.73.1 เลขที่ 03014190-25461016-006-00113 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3/(อธ.1)/89/2547 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2547 หรือให้งดหรือลดเงินเพิ่มและภาษีเทศบาลแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 17991 พร้อมตึกแถว เลขที่ 21/16 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2539 โจทก์ได้จดทะเบียนให้นางสาวกันต์สุดา ฉิมสุทธิวัน ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีเทศบาล โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของจำเลย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ตามคำอุทธรณ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์จดทะเบียนให้นางสาวกันต์สุดา ฉิมสุทธิวัน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในขณะที่โจทก์จดทะเบียนให้นางสาวกันต์สุดา ฉิมสุทธิวัน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าว พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1)…(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่อย่างไรก็ตาม การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ว่าจะเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป แม้ในคดีนี้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าการที่โจทก์จดทะเบียนให้นางสาวกันต์สุดา ฉิมสุทธิวัน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสน่หา จะถือว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share