แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมอย่างไร โดยจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างไร พร้อมทั้งมีคำขอบังคับ ซึ่งได้แสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสองแล้ว การที่คำขอบังคับของโจทก์มิได้ระบุถึงข้อกำหนดห้ามโอนตามพินัยกรรมไว้ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการแบ่งและโอนทรัพย์มรดกซึ่งกำหนดให้ บ.ทายาทผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อปรากฏว่าได้มีการแบ่งแยกเสร็จเรียบร้อยก่อน บ.ถึงแก่กรรมและ บ.ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกด้วยทั้งข้อกำหนดดังกล่าวนั้นเป็นเงื่อนไขในการรับมรดกเฉพาะตัวของ บ.ซึ่งจะมีผลต่อบ.และผู้รับมรดกแทนที่ อันเป็นทรัพย์มรดกคนละส่วนกับของโจทก์ จึงมิใช่ข้อขัดข้องที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจะยกขึ้นอ้างว่าไม่สามารถโอนทรัพย์มรดกให้โจทก์ได้
แม้โจทก์จะมิได้ระบุข้อกำหนดห้ามโอนไว้ในฟ้องด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นเรื่องวิธีการโอนตามพินัยกรรมซึ่งในการโอนย่อมจะจดแจ้งเงื่อนไขตามพินัยกรรมนั้นได้ หาทำให้คำฟ้องนั้นเสียไปไม่ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงื่อนไขการโอนไว้ด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
อายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องใช้อายุความตาม มาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่อายุความตามมาตรา 1754 ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่
รายการแห่งคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 141 (3) เป็นการสรุปคำฟ้องและคำให้การของจำเลยเท่านั้น เพราะรายละเอียดปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การแล้ว ซึ่งคำพิพากษาจะต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และเมื่อศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยถึงข้อที่จำเลยอ้างว่าขาดหายไปจากคำให้การด้วยแล้ว จึงไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายลงกรณีจึงเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์มรดกเฉพาะรายพิพาทคดีนี้ ศาลฎีกาจึงตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว