คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7495/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่ามรดกนั้นมีเพียงหนี้สินที่เจ้ามรดกจะต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่น ๆอีกก็ตาม แต่ทายาทก็ไม่อาจอ้างว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ หากมีการผิดสัญญาและเป็นกรณีที่ไม่เปิดช่องให้บังคับในการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญา ทายาทผู้รับมรดกก็ต้องรับผิดในส่วนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาหรือต้องชำระเบี้ยปรับตามที่กำหนดในสัญญาด้วย การที่เจ้าพนักงานที่ดินจะรับแจ้งอายัดที่ดินขึ้นอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานว่าผู้แจ้งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินหรือไม่ เหตุที่เจ้าพนักงานที่ดินใช้ดุลพินิจรับแจ้งการอายัดของจำเลย เพราะเห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียแม้ว่าขณะนั้นชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทจะมิใช่ช.แต่ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยอาจบังคับให้ช.หรือทายาทต้องปฏิบัติตามสัญญาได้ อันจะส่งผลให้ต้องเพิกถอน การจดทะเบียนภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด เมื่อ ไม่มีคำสั่งศาลให้เพิกถอนการอายัด ย่อมทำให้การอายัดมีผล ต่อไปจนกว่าศาลในคดีที่ผู้ขออายัดได้ยื่นฟ้องไว้จะสั่งให้ ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด จึงเป็น กรณีที่จำเลยใช้สิทธิที่มีอยู่ในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทจาก ช.ก่อนที่ช. จะโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ จ. ผู้เป็นบุตร จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ หากโจทก์จะ เสียหายอย่างไรชอบที่จะต้องว่ากล่าวเองกับผู้ที่ทำสัญญากับ โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมกับนางสาวจำเรียง เหมือนโพธิ์ทอง ในที่ดินโฉนดเลขที่ 274 จำนวน 8,000 ส่วน หรือ 20 ไร่ โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนให้นางสาวจำเรียงเป็นเงิน 1,000,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2534 จำเลยได้อายัดที่ดินตามโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรีและเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534 จำเลยได้ฟ้องโจทก์กับนางสาวจำเรียงต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวทำให้การอายัดมีผลต่อไป โดยจำเลยไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และนางสาวจำเรียงเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นการอายัดที่ไม่ชอบ จงใจกระทำผิดกฎหมายละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 26,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี และค่าเสียหายวันละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาต่างตอบแทนซื้อที่ดินพิพาททั้งแปลงจากนางชุ่ม เหมือนโพธิ์ทอง มารดาของนางสาวจำเรียงเหมือนโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิเดิมไว้ก่อน การอายัดและฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านายเจริญ เหมือนโพธิ์ทอง ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 274 เนื้อที่ 39 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา จากสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของผู้เช่าซื้อ เมื่อ พ.ศ. 2524 นายเจริญถึงแก่ความตายนางชุ่ม เหมือนโพธิ์ทอง ภริยานายเจริญเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อแทนนายเจริญตามระเบียบของสหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อ และรับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมาด้วย ต่อมานางชุ่มให้นางสาวจำเรียง เหมือนโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นบุตรเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์แทนนางชุ่ม และรับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อโดยได้รับอนุมัติจากสหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อวันที่ 20 ธันวาคม 2533สหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวจำเรียง และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 นางสาวจำเรียงตกลงให้โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่20 ไร่ โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ครั้นวันที่ 15 สิงหาคม 2534 จำเลยได้อายัดที่ดินพิพาทตามโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534 จำเลยฟ้องโจทก์กับนางสาวจำเรียงต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทำให้การอายัดมีผลต่อไป และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่จำเลยแจ้งอายัดที่ดินพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เพียงใด ข้อที่จะต้องพิจารณาคือจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันจะเป็นผู้มีสิทธิอายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83หรือไม่ เห็นว่าการอายัดที่ดินพิพาทจำเลยอ้างสัญญาต่างตอบแทนเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งนางชุ่มมารดานางสาวจำเรียงทำไว้กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากสหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อแต่ขณะที่ทำสัญญายังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของนางชุ่ม จึงต้องพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.2 ว่าใช้บังคับได้หรือไม่ และเห็นว่าจำเลยมีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบเอกสารโดยอ้างว่า เป็นสัญญาที่นางชุ่มทำไว้กับจำเลย ส่วนฝ่ายโจทก์นำสืบว่าไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนที่จะถูกจำเลยฟ้องอีกคดีหนึ่งที่ขอให้นางสาวจำเรียงปฏิบัติตามสัญญาหากโอนไม่ได้ให้ใช้เงินแทน พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางชุ่มทำสัญญากับจำเลยตามที่จำเลยอ้างและใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา ในส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจะผูกพันมาถึงทายาทของนางชุ่มด้วยหรือไม่ เพียงใดนั้นเห็นว่า ในขณะที่ทำสัญญานางชุ่มเป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อและรับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างสหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อกับนายเจริญสามีนางชุ่มมาด้วย นางชุ่มจึงอยู่ในฐานะมีสิทธิจะได้มาซึ่งที่ดินพิพาท หากชำระหนี้แก่สหกรณ์ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ได้ เมื่อนางชุ่มถึงแก่ความตายไปก่อน ทายาทผู้รับมรดกจะต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 แม้ว่ามรดกนั้นมีเพียงหนี้สินที่เจ้ามรดกจะต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่น ๆ อีกก็ตามทายาทไม่อาจอ้างว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้เพราะเหตุเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว หรือตนไม่ทราบว่าเจ้ามรดกทำสัญญานั้นกับคู่กรณีหากมีการผิดสัญญาและเป็นกรณีที่ไม่เปิดช่องให้บังคับในการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญานางชุ่มหรือทายาทผู้รับมรดกก็ต้องรับผิดในส่วนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาหรือต้องชำระเบี้ยปรับตามที่กำหนดในสัญญาด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ข้อสัญญาในเอกสารหมาย ล.2 ก็ได้ระบุเบี้ยปรับไว้ในข้อ 3 แล้วดังนั้น นางชุ่มหรือทายาทผู้รับมรดกอาจถูกจำเลยฟ้องให้รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้ เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาจำเลยย่อมจะต้องได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญา
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยแจ้งอายัดที่ดินพิพาทเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ให้ทำได้” และวรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเห็นสมควรให้รับอายัดไว้ได้ไม่เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาลเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี” จึงมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่จะรับอายัดที่ดินตามคำขอของจำเลยเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนและใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แม้ว่าขณะนั้นชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทจะมิใช่นางชุ่ม แต่ตามหนังสือสัญญาต่างตอบแทนอาจบังคับให้นางชุ่มหรือทายาทต้องปฏิบัติตามสัญญาได้ อันจะส่งผลให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัดตามข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกัน จึงถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่กล่าวแล้ว เมื่อไม่มีคำสั่งศาลให้เพิกถอนการอายัดย่อมทำให้การอายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลในคดีที่ผู้ขออายัดได้ยื่นฟ้องไว้จะสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด จึงเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิที่มีอยู่ในฐานะผู้ทำสัญญาต่างตอบแทนหรือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากนางชุ่มก่อนที่นางชุ่มจะโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นางสาวจำเรียงผู้เป็นบุตร แม้ว่านางชุ่มไม่เคยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทก็ตาม เมื่อจำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากนางชุ่มทั้งแปลง และเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับแจ้งใช้ดุลพินิจแล้วว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์หากโจทก์จะเสียหายอย่างไรชอบที่จะต้องว่ากล่าวเองกับผู้ที่ทำสัญญากับโจทก์ แต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดได้ เพราะไม่เข้ากรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420
พิพากษายืน

Share