คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563-565/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเบิกความในคดีที่ พ.ถูกฟ้องคดีอาญาฐานขับรถประมาทชนคนบาดเจ็บ ว่า พ.ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพราะถูกโจทก์ขู่เข็ญนั้นหากคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า พ.กระทำผิดแล้ว แม้ข้อความที่จำเลยเบิกความจะเป็นเท็จ ก็ไม่ใช่เท็จในข้อสำคัญแห่งคดี
การที่จำเลยเบิกความในคดีที่จำเลยถูกฟ้องฐานขับรถประมาทชนคนบาดเจ็บว่า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพราะถูกโจทก์ขู่เข็ญนั้น เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำของคู่ความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

คดีสามสำนวนนี้ศาลรวมพิจารณา โดยโจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนว่า เมื่อ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ เวลากลางวัน จำเลยแต่ละคนได้สาบานปฏิญาณตัวแล้ว ได้บังอาจเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาแดงที่ ๖๓๖/๐๖ ของศาลจังหวัดตรัง อันเป็นข้อสำคัญในคดี โดยนายทวัช จำเลยเบิกความว่า ได้ยินเสียงโจทก์พูดว่า มีงไม่รับกูจะขังให้ตาย จะขังให้ขี้ขาว มึงไม่ใช่ลูกผู้ชาย นายเกรียงศักดิ์จำเลยเบิกความว่าโจทก์หันไปพูดว่า ถ้ามึงไม่รับ กูจะขังให้ขี้ขาว และเมื่อถึงโรงพักโจทก์ก็ขู่อีกด้วยข้อความอย่างเดียวกันแล้วเอามือตบที่เอว เห็นด้ามปืนโผล่ออกมา และนายไพศาลจำเลยเบิกความว่า โจทก์พูดว่า หากมึงไม่รับกูจะขังให้ขี้ขาว และทำท่าตบที่เอว เข้าใจว่าตบที่ปืน ซึ่งคำว่า “ขังให้ขี้ขาว” หมายความว่า จะขังให้อด ๆ หยาก ๆ ให้นานจนอุจจาระเป็นสีขาว ความจริงโจทก์ไม่ได้พูดและกระทำดังที่จำเลยเบิกความต่อศาลนั้นเลย คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ต่อหน้าบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และที่ถูกจำเลยหมิ่นประมาททั้งนี้เนื่องจากโจทก์เป็นเจ้าพนักงาน เพราะกระทำการตามหน้าที่จับกุมนายไพศาลจำเลยซึ่งกระทำความซึ่งหน้าให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังด้วยวาจา และเป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร เหตุเกิดที่ศาลจังหวัดตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเมืองตรัง จังหวัดตรัง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๑๗๗, ๓๒๖, ๓๒๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้องว่า คดีโจทก์มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๑๗๗, ๓๒๖
จำเลยทุกคนให้การว่า ไม่ได้กระทำผิด ข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลนั้นเป็นความจริงตามที่จำเลยรู้เห็นมาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่ผิดฐานเบิกความเท็จ แต่คำเบิกความของจำเลยนั้นอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แต่ที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตอำนาจของโจทก์ จะถือว่าโจทก์ถูกหมิ่นประมาทเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ยังไม่ได้ การที่จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์นี้ เมื่อจำเลยมิได้ขอพิสูจน์ความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๐ จำเลยย่อมมีผิด พิพากษาว่าจำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ปรับคนละ ๒๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยควรผิดฐานเบิกความเท็จและหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ด้วย
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีความผิดดังที่ศาลชั้นต้นลงโทษ
ศาลอุทธรณ์เห้นพ้องศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ผิดฐานเบิกความเท็จ และหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ นั้น ยังโต้เถียงกันว่าถ้อยคำที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จหรือไม่ ดังที่โจทก์จำเลยต่างยืนยันว่าความจริงเป็นอย่างที่ตนเบิกความ คดียังไม่ได้ความพอจะชี้ขาดว่าจำเลยเจตนาใส่ความโจทก์ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยควรมีผิดตามฟ้องทุกประการ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ได้ความว่า เมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ โจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอด ได้มาช่วยงานสมรสของน้องที่อำเภอเมือง ในวันนั้นนายไพศาลจำเลยได้ขี่รถจักรยานยนต์ไปชนเด็กหญิงจันทิราซึ่งเป็นญาติกับโจทก์ ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องนายไพศาลหาว่าขับขี่รถจักรยานยนต์ประมาท และอ้างว่าในชั้นสอบสวนนายไพศาลรับสารภาพ คดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน โดยมิได้วินิจฉัยถึงคำรับสารภาพของนายไพศาลจำเลยแต่อย่างใด ในคดีนั้นจำเลยทั้งสามนี้ต่างเบิกความว่าเป็นพยานนายไพศาลจำเลยว่าตนได้รู้เห็นว่าโจทก์ขู่เข็ญให้นายไพศาลรับสารภาพชั้นสอบสวน
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีอาญาที่หาว่านายไพศาลขับรถชนเด็กหญิงจันทิรานั้น คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาหาเป็นข้อสำคัญไม่ เพราะตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาจะฟังคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาแต่สถานเดียวว่ากระทำผิดยังไม่ได้ ดังจะเห็นว่าคดีนั้น แม้ปรากฏว่านายไพศาลให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน แต่เมื่อพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่านายไพศาลจำเลยกระทำผิด ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เท่ากับว่าคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนหาใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดีไม่ อย่างดีก็เป็นเพียงพยานประกอบอย่างหนึ่งเท่านัน ดังนั้น การที่จำเลยในคดีนี้เบิกความว่า ที่นายไพศาลจำเลยต้องให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพราะถูกโจทก์ขู่เข็ญ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่เท็จในข้อสำคัญแห่งคดี ศาลล่างว่าจำเลยไม่ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ ชอบแล้ว
ส่วนความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เนื่องจากในคดีที่นายไพศาลจำเลยต้องหาว่าขับรถชนคนโดยประมาทนั้น ได้ระบุด้วยว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยนี้ให้การรับสารภาพ ซึ่งเรื่องให้การับสารภาพชั้นสอบสวนนี้ ในชั้นพิจารณาของศาล นายไพศาลจำเลยอ้างว่าที่ได้ให้การรับสารภาพเพราะถูกโจทก์ขู่เข็ญ และนำสืบจำเลยอีก ๒ คนเบิกความประกอบในประเด็นข้อนี้ด้วย ความข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า เรื่องที่โจทก์หาว่าจำเลยกล่าวว่าโจทก์ขู่เข็ญนายไพศาลจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ถนัดว่าเป็นเท็จ ฉะนั้น คำเบิกความของจำเลยต่อศาลดังฟ้อง จะถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์หาได้ไม่ นอกจากนี้สำหรับนายไพศาลจำเลยคนหนึ่งซึ่งเป็นจำเลยในคดีขับรถชนคนและอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ขู่เข็ญให้รับสารภาพชั้นสอบสวนนั้น เห็นว่าได้เป็นถ้อยคำของคู่ความในกระบวนพิจารณาในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนนั่นเอง ย่อมไม่ความผิดฐานหมิ่นประมาทดังที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๑ อีกประการหนึ่ง
พิพากษายืน

Share