คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9783/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ถ้อยคำในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า ถ้าความปรากฏในภายหลังนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าความปรากฏในภายหลังโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดก็ตาม แต่มาตรา 57 เป็นบทบัญญัติที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นไว้ชั่วคราวตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง เพื่อเลขาธิการจะได้ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไปตามมาตรา 49 ซึ่งหากศาลไต่สวนแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่หากศาลเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมมีนัยแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่า คำว่า “ถ้าความปรากฏในภายหลัง” ตามมาตรา 57 วรรคสี่ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ความปรากฏในภายหลังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ทรัพย์สินตามคำร้องนั้นไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น หากตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าวว่าทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีย่อมไม่เข้าองค์ประกอบตามความในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่จะก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดว่า ทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง จำเลยจึงยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น มาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติถึงวิธีการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ว่า “…เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่เลขาธิการของจำเลยนำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกทั้ง 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดในขณะที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินยังอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการของจำเลยเกี่ยวกับการรักษาและจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายที่มาตรา 48 และมาตรา 57 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ บัญญัติให้มีอำนาจกระทำได้อีกทั้งเป็นการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราวในระหว่างที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินอยู่ในระหว่างการพิจารณา ดังนั้น การดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเช่นว่านี้ จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองเช่นกัน
อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่กล่าวอ้างว่าเลขาธิการของจำเลยใช้อำนาจโดยไม่สุจริตรีบเร่งนำทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาด อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวบรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ที่ยึดไว้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถบรรทุกและพ่วงบรรทุกตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดหรือราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด แล้วแต่ราคาใดที่มีราคาสูงกว่าแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงิน 120,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และค่าเสียหายเดือนละ 10,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกหรือใช้ราคา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อยังไม่ได้ความว่าทรัพย์สินที่จำเลยนำออกขายทอดตลาดไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 วรรคสี่ จึงยังไม่เกิดสิทธิที่โจทก์ทั้งสองจะโต้แย้งได้ และฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่บรรยายฟ้องว่า การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยในการดำเนินการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองตามที่กฎหมายให้อำนาจนั้นเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือฝ่าฝืนบทกฎหมายใด และเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสองอย่างไร จึงไม่เป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จำเลย ได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของโจทก์ทั้งสองและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า โจทก์ทั้งสองกระทำการอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (1) และ (5) และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2546 คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยอาศัยอำนาจตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองหลายรายการรวมทั้งรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกอีก 209 คัน ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และเลขาธิการของจำเลยได้ใช้อำนาจตามมาตรา 57 วรรคสอง สั่งให้นำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกทั้ง 209 คัน นั้นออกขายทอดตลาด ต่อมาพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 สำหรับคดีอาญานั้น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 พนักงานอัยการได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษต่อศาลอาญา แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยคดีนี้ในข้อหาละเมิดโดยบรรยายฟ้องว่า รถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองที่เลขาธิการของจำเลยสั่งขายทอดตลาดไปนั้นเป็นทรัพย์สินที่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ และหากเก็บรักษาไว้ก็ไม่เป็นภาระแก่ทางราชการ หรือหากอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองรับไปดูแลเองจะเกิดผลดีมากกว่าการขายทอดตลาด อีกทั้งรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นของสดเสียได้ และจำเลยก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์ทั้งสองรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันก็ได้ แต่จำเลยกลับนำทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดออกขายทอดตลาดเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะคดียังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ารถบรรทุกและพ่วงบรรทุกของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคดีส่วนอาญาศาลอาญาก็พิพากษายกฟ้องด้วย ขอให้บังคับจำเลยคืนรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณีใดมีราคาสูงกว่ากันแก่โจทก์ทั้งสอง กับชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถบรรทุกและพ่วงบรรทุกที่ถูกยึดเดือนละ 10,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 120,000,000 บาท และใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนรถหรือชดใช้ราคาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิด โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยขายทอดตลาดรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 57 …
แม้ถ้อยคำในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า ถ้าความปรากฏในภายหลังนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าความปรากฏในภายหลังโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดก็ตาม แต่มาตรา 57 เป็นบทบัญญัติที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นไว้ชั่วคราวตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง เพื่อเลขาธิการจะได้ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไปตามมาตรา 49 ซึ่งหากศาลไต่สวนแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ก็ให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่หากศาลเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมมีนัยแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่า คำว่า “ถ้าความปรากฏในภายหลัง” ตามมาตรา 57 วรรคสี่ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ความปรากฏในภายหลังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ทรัพย์สินตามคำร้องนั้นไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น หากตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าวว่าทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีย่อมไม่เข้าองค์ประกอบตามความในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่จะก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดว่า ทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง จำเลยจึงยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งว่า เลขาธิการของจำเลยนำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดเสียทั้งหมด ทั้งที่คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกฟ้อง ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีแพ่ง
อยู่ในระหว่างการพิจารณา ศาลยังมิได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ยึดตกเป็นของแผ่นดิน และก่อนขายทอดตลาดโจทก์ทั้งสองก็มีหนังสือถึงจำเลยเพื่อขอรับรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกที่ถูกยึดไปดูแลและใช้ประโยชน์ระหว่างการดำเนินคดี กับขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดโดยโจทก์ทั้งสองยอมวางหลักประกันค่าเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจไม่ให้โจทก์ทั้งสองนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้วนั้น เห็นว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น มาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติถึงวิธีการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ว่า “…เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่เลขาธิการของจำเลยนำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกทั้ง 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดในขณะที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินยังอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการของจำเลยเกี่ยวกับการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายที่มาตรา 48 และมาตรา 57 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้มีอำนาจกระทำได้ อีกทั้งเป็นการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราวในระหว่างที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินอยู่ในระหว่างการพิจารณา ดังนั้น การดำเนินการโดยอาศัยอำนาจ
ตามกฎหมายเช่นว่านี้ จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองเช่นกัน
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการเยียวยาเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียในเบื้องต้นมิให้ได้รับผลกระทบจนยากจะเยียวยาได้ มาตรา 57 วรรคสอง จึงให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันก็ได้ มิใช่รอผลเยียวยาตามมาตรา 57 วรรคสี่ แต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การที่เลขาธิการของจำเลยรีบเร่งนำทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการและเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองที่กล่าวอ้างว่าเลขาธิการของจำเลยใช้อำนาจโดยไม่สุจริตรีบเร่งนำทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดอันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวบรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเมื่อวินิจฉัยดังนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นตามอุทธรณ์ข้อต่อมาที่ว่า โจทก์ทั้งสองอยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกในกำหนดอายุความละเมิดอีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลฎีกาให้เป็นพับ

Share