คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท เมื่อจำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยแม้เป็นเวลานานเท่าใดจำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองและการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีก่อนให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองและคำสั่งถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดีซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา โจทก์ยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นป้าปลูกบ้านอาศัยในที่ดินแปลงนี้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อที่ 2 งานเศษ ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่อาศัย ได้บอกกล่าวให้รื้อถอนบ้านไป แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยยื่นคำร้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 โดยการครอบครอง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 34 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 และส่งมอบที่ดินให้โจทก์ในสภาพเดิม ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ให้เพิกถอนคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1796/2529 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การว่า เมื่อ พ.ศ. 2495 จำเลยขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 1135 ของจำเลยไว้กับนายวิบูลย์ อูนากูล แล้วไม่ได้ไถ่ถอนต่อมา พ.ศ. 2501 นายวิบูลย์ฟ้องขับไล่นายทองหล่อสามีจำเลยมีการตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยนายวิบูลย์ยอมยกที่ดินในโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ 1 ไร่ ให้แก่จำเลย แต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กัน จำเลยได้รื้อถอนบ้านมาปลูกในที่ดินนั้น ต่อมานายวิบูลย์แบ่งแยกที่ดินเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 แล้วขายให้โจทก์เมื่อ พ.ศ. 2501 จำเลยครอบครองที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ มาตลอดแล้วได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จำเลยไม่เคยอาศัยสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 34ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 ส่งมอบที่ดินคืนให้โจทก์ในสภาพดีดังเดิม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1135 ต่อมาจำเลยนำที่ดินโฉนดดังกล่าวไปขายฝากไว้กับนายวิบูลย์แล้วไม่ไถ่ถอนคืนภายในระยะเวลากำหนดหลังจากนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 1135 แบ่งแยกออกไปอีก 1 โฉนดคือ โฉนดเลขที่ 11262 โดยมีถนนสาธารณะผ่านกลาง นายวิบูลย์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1135 และ 11262 ของตนให้แก่โจทก์ จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 34 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 ของโจทก์บางส่วน ประเด็นวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ จำเลยมีตัวจำเลย นายประสิทธิ์ สวัสดีนางอนงค์ เนียมกสิพงษ์ และนางกิมหยง เจริญศิลป์ เบิกความว่าเมื่อ พ.ศ. 2501 นายวิบูลย์ฟ้องขับไล่นายทองหล่อสามีจำเลยให้รื้อบ้านออกจากที่ดิน แล้วมีการประนีประนอมยอมความโดยนายวิบูลย์ยกที่ดินประมาณ 1 ไร่ ให้ฝ่ายจำเลย แต่ให้รื้อบ้านไปปลูกในที่ดินโฉนดเลขที่ 11262 โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยจึงปลูกบ้านเลขที่ 34 พร้อมทำประโยชน์ในที่ดินตลอด 29 ปีมาแล้ว โจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง เหตุที่ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกัน เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินเห็นว่านายประสิทธิ์ และนางอนงค์พยานจำเลยทั้งสองขณะเบิกความคดีนี้เมื่อ พ.ศ. 2530 มีอายุ 50 ปี และ 37 ปี ตามลำดับ ฉะนั้นขณะที่นายวิบูลย์ฟ้องขับไล่นายทองหล่อสามีจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2501นายประสิทธิ์และนางอนงค์พยานจำเลยทั้งสองมีอายุเพียง 20 ปี และ7 ปี ตามลำดับ นับว่าอายุยังน้อย ในวัยดังกล่าวไม่น่าที่จะรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีในศาลของผู้อื่นได้ละเอียดชัดเจนดังที่เบิกความ ทั้งไม่ปรากฏว่านางอนงค์รู้เห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เบิกความต่อศาลมาได้อย่างไร นายประสิทธิ์เองก็เบิกความว่าทราบเรื่องนายวิบูลย์ฟ้องจำเลยและสามีเพราะฝ่ายจำเลยเล่าให้ฟังแต่พยานไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ ในคดีนั้น ส่วนนางกิมหยงพยานจำเลยอีกคนหนึ่งก็ทราบข้อเท็จจริงที่เบิกความต่อศาลจากชาวบ้านพูดกัน ไม่ได้รู้เห็นหรือทราบมาด้วยตนเอง คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงขาดเหตุผลไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ เมื่อจำเลยทราบว่านายวิบูลย์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1135 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2502 มีการแบ่งแยกโฉนดออกไปเป็นโฉนดเลขที่ 11262 จำเลยก็ไม่ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินที่จำเลยอ้างว่านายวิบูลย์ยกให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปพร้อมกันเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยเกี่ยวข้องเป็นญาติโดยโจทก์เป็นหลาน จำเลยเป็นป้า ศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท มิใช่จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยนายวิบูลย์ยกให้แต่อย่างใดเมื่อจำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัย แม้เป็นเวลานานเท่าใด จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1796/2529 ของศาลชั้นต้น และคำสั่งศาลดังกล่าวถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดีซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share