แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างว่าไปธุระต่างจังหวัด ทนายติดต่อกับตัวความนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลไม่ได้ไม่เป็นพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายเวลาได้ คำสั่งศาลชั้นต้นไม่ขยายเวลาให้ ผู้ร้องอุทธรณ์ฎีกาได้
ย่อยาว
จำเลยที่ 2, ที่ 3 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 27 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2521
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4ร่วมกันใช้เงินจำนวน 167,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2518 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2, ที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อ้างว่า ตัวจำเลยที่ 2, ที่ 3 ได้เดินทางไปธุรกิจการค้ายังจังหวัดภาคใต้หลายจังหวัดทนายจำเลยที่ 2, ที่ 3 ไม่สามารถติดต่อกับตัวจำเลยที่ 2, ที่ 3 เพื่อนำเงินค่าธรรมเนียมในการยื่นอุทธรณ์มาวางต่อศาลได้ภายในกำหนดเวลา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่มีพฤติการณ์พิเศษ จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2, ที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2, ที่ 3 ฎีกาว่า การขอขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากตัวจำเลยที่ 2, ที่ 3 เดินทางไปธุรกิจการค้ายังต่างจังหวัดหลายจังหวัด ทนายจำเลยที่ 2, ที่ 3 ไม่สามารถติดต่อกับตัวจำเลยที่ 2, ที่ 3 เพื่อนำเงินค่าธรรมเนียมอุทธรณ์มาวางต่อศาลได้ภายในกำหนดเวลานั้น ถือได้ว่าพฤติการณ์พิเศษที่ศาลควรขยายเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลย
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่าในกรณีเรื่องขยายระยะเวลานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้อำนาจศาลที่จะสั่งขยายระยะเวลาได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษเท่านั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้ออ้างตามคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่ 2, ที่ 3 แล้ว เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 2, ที่ 3 ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2, ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2, ที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 300 บาทแทนโจทก์