คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และศาลทหารตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหารต่างมีฐานะเป็นศาลที่ใช้อำนาจตุลาการตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน จึงต่างไม่มีอำนาจเหมือนกัน ศาลต่อศาลจะมีอำนาจเหนือกันได้ก็แต่เฉพาะที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะมีอำนาจสั่งให้ปล่อยตัวบุคคลที่ศาลทหารในเวลาไม่ปกติได้ออกหมายขังไว้ได้
บุคคลที่ลงชื่อในหมายขังของศาลหาใช่กระทำเป็นส่วนตัวไม่ แต่กระทำในนามของศาลและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามกฎหมาย จึงต้องถือว่าศาลนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดการขังนั้นขึ้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 นั้น ให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่นซึ่งก่อให้เกิดการควบคุม ขับ หรือจำคุก ฯ มาได้เท่านั้น จะขยายความออกไปให้ศาลหมายเรียกศาลด้วยกันมาหาได้ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้ง ๕๐ คนยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลพลเรือน ได้ถูกฟ้องต่อศาลทหารในเวลาไม่ปกติ (สังกัดกระทรวงกลาโหม) ฐานกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๙๕ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐโดยอัยการศาลทหารนั้นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พระราชบัญญัติอัยการศึก และประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ ๑๐ (๒) กับฉบับที่ ๑๕ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติจึงได้รับประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องทุกคนไว้ ผู้ร้องถือว่า ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๒ (๒) และฉบับที่ ๑๕ ที่กำหนดให้บรรดาคดีที่มีข้อหาเช่นผู้ร้องนี้ต้องไปอยู่ในอำนาจศาลทหารในเวลาไม่ปกติพิจารณาพิพากษานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเมื่อประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๐๒ เมื่อ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ แล้ว อำนาจคณะปฎิวัติก็หมดสิ้นไป ประกาศคณะปฏิวัติทั้ง ๒ ฉบับนี้จึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับต่อมามิได้ ทั้งเป็นประกาศที่ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ศาลทหารในเวลาไม่ปกติจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลพลเรือนต้องหาเช่นนี้และย่อมไม่มีอำนาจออกหมายขังผู้ร้องได้โดยชอบ จึงเป็นการขังที่ผิดกฎหมาย ผู้ร้องอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะ ศาลอาญาย่อมมีอำนาจรับพิจารณาวินิจฉัย จึงขอให้ศาลอาญาพิพากษาปล่อยตัวผู้ร้องทั้งหมดไปทันที
ศาลอาญาสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา แต่เห็นว่าไม่จำต้องมีการไต่สวนก็พอวินิจฉัยได้แล้วมีคำสั่งให้ยกร้องของบรรดาผู้ร้องเสีย
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในผล
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ในการที่จะวินิจฉัยสั่งควรให้เป็นไปตามคำร้องของผู้ร้องได้หรือไม่นั้นสำคัญอยู่ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๙๐ คือจะต้องพิจารณาว่ามาตรานี้จะนำมาใช้บังคับในกรณีที่ศาลหนึ่งออกหมายขังไว้ แต่จะขอให้อีกศาลหนึ่งสั่งปล่อยผู้ที่ถูกขังอยู่ตามหมายนั้นได้หรือไม่ ก่อนอื่นศาลฎีกาเห็นว่า ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ แม้จะสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม ก็มีฐานะเป็นตามที่ใช้อำนาจตุลาการตามรัฐธรรมนูญทำการพิจารณาพิพากษาคดีของรัฐเช่นเดียวกับศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดำเนินไปตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจเหนือศาลทหารใด ๆ ซึ่งเป็นศาลตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารไปได้ ศาลต่อศาลจะมีอำนาจเหนือกันก็แต่เฉพาะที่มีบทบัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลหรือกฎหมายใดโดยแจ้งชัด พิจารณาโดยนัยนี้ก็ย่อมเห็นอยู่ว่า ศาลอาญาไม่อยู่ในฐานะที่จะมีอำนาจสั่งให้ปล่อยตัวผู้ร้องได้
พิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ ต่อไป ก็เห็นชัดว่าไม่มีความหมายที่จะให้ศาลหนึ่งสั่งปล่อยบุคคลที่อีกศาลหนึ่งออกหมายขังไว้ได้ด้วยเลย จะเห็นได้จากความที่บัญญัติในวรรคท้ายว่า “เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น ให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่นซึ่งก่อให้เกิดการควบคุม ขังหรือจำคุก และผู้ที่ถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกมาพร้อมกัน ถ้าเป็นที่พอใจ ศาลว่าการควบคุมหรือการขังนั้นผิดกฎหมาย หรือการจำคุกนั้นผิดจากคำพิพากษา ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป ” ซึ่งไม่มีทางเข้าใจไปได้เลยว่าให้ศาลที่ได้รับคำร้องหมายเรียกศาลอีกศาลหนึ่งที่ก่อให้เกิดการขังมาได้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กฎหมายให้ศาลหมายเรียกผู้ที่ก่อให้เกิดการควบคุม ขัง หรือ จำคุกมาเพื่อพิจารณาคำร้องขอให้สั่งปล่อยได้เฉพาะบุคคลซึ่งอาจจะเป็นเจ้าพนักงานหรือมิใช่เจ้าพนักงานก็ได้เท่านั้น จะขยายความออกไปให้ศาลหมายเรียกด้วยกันมาหาได้ไม่
จริงอยู่ตามคำร้องของผู้ร้องระบุมาว่า ผู้ร้องคนใดถูกขับอยู่โดยหมายขังของนายทหารคนใด ในคดีหมายเลขดำเท่านั้นเท่านี้ และขอให้ศาลหมายเรียกนายทหารที่ระบุนามเป็นเจ้าของหมายเหล่านั้น มาทำการไต่สวน ซึ่งก็คงจะให้ถือว่านายทหารเจ้าของหมายเหล่านั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดการขังโดยผิดกฎหมายนั่นเอง แต่ศาลฎีกาเห็นว่า หมายขังนั้น ๆ จะเป็นของใครไปไม่ได้นอกจากเป็นของศาลทหารที่ประทับรับฟ้องคดีที่ผู้ร้องเป็นจำเลยไว้พิจารณาพิพากษา บุคคลผู้ที่ลงชื่อในหมายหาใช่กระทำเป็นส่วนตนเองไม่ แต่กระทำในนามของศาลและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามกฎหมาย จึงต้องถือว่าศาลนั้นต่างหากที่ก่อให้เกิดการขังผู้ร้องไว้ หาใช่บุคคลผู้ที่ลงชื่อในหมายเป็นผู้ก่อให้เกิดการขังผู้ร้องไม่ บุคคลผู้ลงชื่อในหมายขังจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องถูกศาลหมายเรียกตัวมาตามความในมาตรา ๙๐ วรรคท้ายนั้นเลย เป็นอันไม่มีทางออกอีกที่จะนำมาตรา ๙๐ มาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ได้ คำร้องของผู้ร้องที่อาศัยมาตรา ๙๐ นั้น เป็นมูลฐานจึงต้องตกไปทันที โดยมิพักต้องพิจารณาข้ออ้างอิงใด ๆ ของผู้ร้องที่ว่าศาลทหารในเวลาไม่ปกติไม่มีอำนาจเหนือคดีของผู้ร้องก็ดี หรือว่าศาลนั้นไม่มีอำนาจขังผู้ร้องได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี เพราะนอกจากไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาไปถึงด้วยดุจกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เป็นข้อที่ศาลทหารในเวลาไม่ปกติที่ประทับรับฟ้องคดีที่ผู้ร้องเป็นจำเลยไว้เท่านั้น ที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามกระบวนความ และตามอำนาจแห่งธรรมนูญศาลโดยเฉพาะ หามีบทกฎหมายใดอันชอบที่จะนำมาสนับสนุนคดีให้ผันแปรไปจากที่กล่าวไว้นี้ได้ไม่
พิพากษายืน ยกฎีกาผู้ร้อง

Share