แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เรือนพิพาทเดิมเป็นของผู้ร้องและปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ร้องเมื่อจำเลยมาแต่งงานกับบุตรสาวของผู้ร้องฝ่ายผู้ร้องได้เรียกเอาเงินเป็นค่าเรือนหอและมอบเรือนนั้นให้เป็นที่อยู่อาศัยของคู่สมรสเรือนนั้นจึงเปลี่ยนมือจากผู้ร้องมาเป็นเรือนหออันเป็นสินเดิมของจำเลย กรณีมิใช่เรื่องซื้อขายหรือยกให้ไม่จำต้องมีการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 เรือนพิพาทเป็นของจำเลย ดังแบบอย่างฎีกาที่ 1693/2500
โจทก์ขอ และศาลสั่งให้เจ้าพนักงานศาลนำเอกสารพยานไปส่งกองวิทยาการ กรมตำรวจ เพื่อตรวจพิสูจน์ ค่าพาหนะและค่าป่วยการที่โจทก์เสียให้เจ้าพนักงานศาลนี้ นับเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161ซึ่งผู้แพ้คดีจะต้องรับผิด
ย่อยาว
ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยเรือนราคาประมาณ 3,500 บาท ที่โจทก์นำยึดไว้ โดยอ้างว่าไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นของผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า เป็นทรัพย์ของจำเลย จำเลยได้นำมาค้ำประกันหนี้ไว้กับโจทก์
ศาลชั้นต้นฟังว่า เรือนนี้เดิมเป็นของผู้ร้อง เมื่อจำเลยมาแต่งงานกับบุตรสาวของผู้ร้อง ผู้ร้องเรียกเอาเงิน 5,000 บาทเป็นค่าเรือนหอจากจำเลยไว้ แล้วจำเลยกับบุตรสาวผู้ร้องได้อยู่ในเรือนหลังนี้มาเกือบปี จึงได้ย้ายไป ไม่เชื่อว่าเรือนนี้เป็นของผู้ร้อง พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ยอมให้เรือนพิพาทเป็นเรือนหอนี้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 เรือนพิพาทยังไม่ตกเป็นของจำเลย (อ้างฎีกาที่ 580/2492 กับว่าฎีกาที่ 1693/2500 ไม่ตรงกับเรื่องนี้) และจำเลยยังไม่ได้เรือนนี้โดยการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจยึดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ร้องอุทธรณ์ด้วยนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษากลับ ให้ถอนการยึด มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งว่าควรพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อฝ่ายหญิงเรียกเอาเงินจากฝ่ายชายไปเป็นค่าเรือนและมอบเรือนพิพาทให้เป็นที่อยู่อาศัยของคู่สมรสในการแต่งงานกัน เรือนนั้นจึงเปลี่ยนมือจากผู้ร้องมาเป็นเรือนหออันเป็นสินเดิมของจำเลย กรณีมิใช่เป็นเรื่องซื้อขายหรือยกให้ไม่ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 เรือนพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์มีอำนาจยึดได้ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1693/2500 ส่วนปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ค่าพาหนะที่โจทก์เสียให้เจ้าพนักงานศาลนำเอกสารไปให้กองวิทยาการ กรมตำรวจ เพื่อพิสูจน์ตามคำสั่งศาลนั้น นับเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ซึ่งผู้แพ้คดีจะต้องรับผิด
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น