แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบเหยียบย่ำเป็นเพียงพยานว่า ผู้รับใบเหยียบย่ำได้จับจองที่พิพาทตั้งแต่วันดังกล่าวในใบเหยียบย่ำ และมีกำหนดอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น ผู้รับใบเหยียบย่ำไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายพิพาท ส่วนการขึ้นทะเบียนราชพัสดุ ก็ไม่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เช่นกัน เมื่อที่ดินรายพิพาทไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ จึงเป็นที่ดินมือเปล่า
จำเลยที่ 1 (กรมทางหลวงแผ่นดิน) ขอจับจองที่พิพาทและได้รับใบเหยียบย่ำเช่นเดียวกับเอกชนที่จับจองที่ดินธรรมดาไม่ปรากฏว่าได้ใช้ประโยชน์อะไรนอกจากปลูกอาคารรับรองไว้หลังเดียวในเนื้อที่อันกว้างขวาง เฉพาะที่พิพาทมิได้เกี่ยวข้องในการก่อสร้างอาคารรับรองอยู่เหนือที่พิพาทประมาณ 40 เมตร มีบ้านเรือนราษฎรถึง 35 หลังปลูกในเขตที่จำเลยอ้างว่าเป็นของจำเลย ไม่ได้ความว่ามีการสงวนไว้หรือมีการใช้ที่แปลงนี้เพื่อสาธารณประโยชน์ ดังนี้ ที่พิพาทหาใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ เพราะมิใช่เป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๑ แปลง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พนักงานที่ดินรังวัดออกโฉนด จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายช่างโทแขวงการทางเชียงรายคัดค้านว่าเป็นที่ของกรมทางหลวงแผ่นดินจำเลยที่ ๑ จึงฟ้องขอให้ศาลสั่งถอนคำคัดค้าน
จำเลยให้การว่า ที่รายพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของกรมทางหลวงแผ่นดิน ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยถอนคำคัดค้าน ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ในประเด็นแรกที่ว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยที่ ๑ ขอจับจองที่พิพาท และได้รับใบเหยียบย่ำ กับจำเลยอ้างและนำสืบว่าได้ขึ้นทะเบียนราชพัสดุที่แปลงนี้ไว้ศาลฎีกาเห็นว่าใบเหยียบย่ำนี้เป็นเพียงพยานว่า ผู้รับใบเหยียบย่ำได้มาขอจองที่รายนี้ตั้งแต่เมื่อวันดังกล่าวในใบเหยียบย่ำ และมีกำหนดอายุเพียง ๒ ปีเท่านั้นผู้รับใบเหยียบย่ำไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายนี้อย่างใด ส่วนการขึ้นทะเบียนราชพัสดุที่แปลงนี้ไว้ก็ไม่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เช่นกัน เมื่อที่ดินรายพิพาทไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของตามกฎหมาย ดังนี้ จึงเป็นที่ดินมือเปล่า
ประเด็นต่อไปที่ว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ ขอจับจองที่พิพาทและได้รับใบเหยียบย่ำเช่นเดียวกับเอกชนที่จับจองที่ดินธรรมดา ไม่ปรากฏว่าได้ใช้ประโยชน์อะไร นอกจากปลูกอาคารรับรองไว้หลังเดียวในเนื้อที่อันกว้างขวาง เฉพาะที่พิพาทมิได้เกี่ยวข้องในการใช้สร้างอาคารอย่างใด อาคารรับรองนี้อยู่เหนือที่พิพาทประมาณ ๔๐ เมตร มีบ้านเรือนราษฎรถึง ๓๕ หลังปลูกอยู่ในเขตที่จำเลยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ความว่ามีการสงวนไว้หรือมีการใช้ที่แปลงนี้เพื่อสาธารณประโยชน์ เท่าที่ได้ความตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าที่พิพาทหาใช่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามนัยมาตรา ๑๓๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ เพราะที่พิพาทมิใช่เป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ก็ย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พิพากษายืน