แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๔๗
วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดน่าน
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
นางดารณี พันธุ์แก้ว ที่ ๑ นายกิตติ พันธุ์แก้ว ที่ ๒ นางสาวอรวรรณ พันธุ์แก้ว ที่๓ และนางสาวอัญชลี พันธุ์แก้ว ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับโอนเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๘/๒๕๔๔ อ้างว่า นายแพทย์ สมพัฒน์ คชสีห์นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ผู้ถูกฟ้องคดี ได้อนุมัติให้จ่ายเงินขวัญถุง จำนวน ๗ เท่าของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายและเงินอื่น ๆ ที่นายสมัคร พันธุ์แก้ว ผู้ตายซึ่งเป็นสามีและบิดาของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ มีสิทธิได้รับตามกฎหมายเมื่อลาออกจากราชการเพื่อเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณอายุก่อนกำหนดให้แก่นางวรนุช ยาวิไชย ตามหนังสือมอบฉันทะ ฉบับลงวันที่ ๒๐กันยายน ๒๕๔๕ และหน่วยงานได้จ่ายเงินดังกล่าวแก่นางวรนุชแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ จึงขอให้ชำระเงินที่นายสมัคร ผู้ตายจะได้รับจำนวน ๙๗,๗๕๕ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลปกครองเชียงใหม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหัวหน้าส่วนราชการผู้เบิกจ่ายจากคลังได้เบิกเงินขวัญถุงตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบแล้ว แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุมัติจ่ายเงินตามจำนวนดังกล่าวให้แก่นางวรนุช ยาวิไชยเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่านายสมัครได้มอบฉันทะไว้เพื่อชำระหนี้ให้แก่นางวรนุช ตามหนังสือมอบฉันทะลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๒ นั้น การอนุมัติให้จ่ายเงินตามหนังสือมอบฉันทะ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น จึงเป็นคำฟ้องที่ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดน่าน
ศาลจังหวัดน่านพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินถึงแก่ความตายก่อนได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ให้จ่ายเงินช่วยเหลือนั้นแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งหมายความว่า หากผู้ที่ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจ่ายเงินที่ผู้ตายมีสิทธิได้รับให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ซึ่งได้แก่ผู้สืบสันดาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านและเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ตายอนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นางวรนุช เจ้าหนี้ของผู้ตาย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ และการสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีถือว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดี เพราะเป็นผลให้สิทธิที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายระงับไป ดังนั้น คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวหาว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยออกคำสั่งหรือกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหรือกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีที่เอกชนฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ”
ข้อเท็จจริงคดีนี้ นายสมัครฯ ผู้ตายซึ่งเป็นสามีและบิดาของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้ขอลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ซึ่งจะได้รับเงินตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน ๗ เท่าของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายและเงินอื่น ๆ ที่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายต่อมานายสมัคร ได้ถึงแก่ความตาย ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน และเป็นผู้บังคับบัญชาของนายสมัคร มีคำสั่งอนุมัติจ่ายเงินให้แก่นางวรนุช ยาวิไชย ตามหนังสือมอบฉันทะที่นายสมัคร ได้ทำไว้ ฉบับลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๒ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี จึงถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕(๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่โต้แย้งว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง มิได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกคำสั่งหรือกระทำอื่นใดโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นคดีปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่เอกชนฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระหว่าง นางดารณี พันธุ์แก้ว ที่ ๑ นายกิตติ พันธุ์แก้ว ที่ ๒ นางสาวอรวรรณ พันธุ์แก้วที่ ๓ และนางสาวอัญชลี พันธุ์แก้ว ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี นายแพทย์ สมพัฒน์ คชสีห์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองเชียงใหม่
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๔