คำวินิจฉัยที่ 32/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๔๖

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ นายสุวิมล ปิยะกาญจน์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๖๖/๒๕๔๔ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตั้งอยู่หมู่ ๖ ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินโครงการขุดลอกคูระบายน้ำผ่านหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีและที่ดินของประชาชนหลายสิบครอบครัวเป็นระยะทาง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ทำให้ไม่สามารถข้ามคูน้ำไปทำการเกษตรในที่ดินของตนได้สะดวก ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำสะพานข้ามคูน้ำ และปรับสันคูเพื่อเป็นทางสัญจรข้ามไปมาได้สะดวก รวมทั้งขยายเขตการไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเกษตร
ระหว่างพิจารณาศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา จึงดำเนินการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ ศาลปกครองกลางเห็นว่า การดำเนินการขุดลอกคูระบายน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบกอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป ตามมาตรา ๖๗(๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งไม่จำต้องมีการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามหน้าที่นั้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และได้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามนัยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จัดระบบบริการสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๖, ๖๗ และมาตรา ๖๘ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามโครงการขุดลอกคูระบายน้ำ เพื่อยังประโยชน์ให้แก่การเกษตรและประชาชนโดยรวมในการมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ตลอดจนอุปโภคและป้องกันอุทกภัย ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดระบบบริการสาธารณะและเป็นการปฏิบัติการทางปกครองอย่างหนึ่ง เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าการดำเนินโครงการเป็นไปโดยมิชอบ กระทบกระเทือนสิทธิหรือประโยชน์อันชอบธรรมของผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีที่เอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลว่าทำละเมิดโดยการขุดลอกคูระบายน้ำ ขอให้ทำสะพานข้าม และปรับสันคูเพื่อเป็นทางสัญจรข้ามไปมาได้สะดวก รวมทั้งขยายเขตการไฟฟ้าเพื่อสะดวกแก่การเกษตรเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ผู้ถูกฟ้องคดี ดำเนินโครงการขุดลอกคูระบายน้ำผ่านหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีและประชาชนอื่นอีกหลายสิบครอบครัวเป็นระยะทางยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการทำละเมิดด้วยการขุดลอกคูระบายน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบกอันเป็นการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตน ตามมาตรา ๖๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามโครงการพิพาทด้วยการขุดลอกคูระบายน้ำเพื่อประโยชน์แก่การเกษตร การอุปโภค การป้องกันอุทกภัย ตลอดจนการกำหนดจุดทำสะพานข้าม และรายละเอียดอื่น ๆ นั้นถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวในการจัดระบบบริการสาธารณะ ดังนั้นเมื่อก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครอง นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำสะพานข้าม และปรับสันคูระบายน้ำเพื่อเป็นทางสัญจร รวมทั้งขยายเขตการไฟฟ้า นั้น ก็เป็นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองกระทำการเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนจากการกระทำละเมิดที่ถูกฟ้องร้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) กรณีพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีละเมิดโดยการขุดลอกคูระบายน้ำ ขอให้ทำสะพานข้าม และปรับสันคูเพื่อเป็นทางสัญจรข้ามไปมาได้สะดวก รวมทั้งขยายเขตการไฟฟ้าเพื่อสะดวกแก่การเกษตร ระหว่างนายสุวิมล ปิยะกาญจน์ ผู้ฟ้องคดี กับ องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (อัฏฐพร เจริญพานิช)
ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร

(ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร (ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(อาชวัน อินทรเกสร) (นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share