คำวินิจฉัยที่ 14/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๔๗

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายมีชัย มังคล้าย นางสาวลำพูน สุกใส และ นางสาวนิ่มนวล มณีวงษ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ ๑ และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บี.เจ. ก่อสร้าง เป็นจำเลยที่ ๒ ต่อศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ๕๓๓๘/๒๕๔๕ และแก้ไขคำฟ้อง ความว่า จำเลยที่๑ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ ก่อสร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองตาอูฐ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ตรวจสอบระดับพื้นดินบ้านเรือนของประชาชน โดยกำหนดให้สร้างคานทับหลังเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับบ้านเรือนของประชาชน เมื่อจำเลยที่๒ เข้าดำเนินการก่อสร้าง ทำให้พื้นดินที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวทรุดตัว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๑๖๘๗๕ ๑๑๖๘๗๖ และ ๑๑๖๘๗๔ ตำบลทุ่งสองห้อง เขตบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดี และจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โครงการสร้างเขื่อนพิพาทจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำ และโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าเป็นคดีพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เพื่อก่อสร้างเขื่อนคลองตาอูฐดังกล่าว เป็นการจัดทำบริการสาธารณะ จำเลยที่ ๑ ผู้ว่าจ้างเป็นหน่วยงานปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนตาอูฐ โดยจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้เป็นผู้ก่อสร้างแทน แม้จะเป็นงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ ตามมาตรา ๘๙ (๖)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่จำต้องมีการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามหน้าที่นั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามอ้างว่าการก่อสร้างเขื่อนคลองตาอูฐได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามและถือเป็นการกระทำละเมิด แต่ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้างให้ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับจ้างซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๘ โดยมิได้มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติผิดสัญญาหรือขอคำบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด กรณีพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนกั้นดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล และมีหน้าที่บำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ประกอบมาตรา ๘๙(๖) กรุงเทพมหานครจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกันหน่วยงานทางปกครอง อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทในมูลละเมิดระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครอง อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่๑ ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ทำการก่อสร้างเขื่อนกั้นดินบริเวณริมคลองตาอูฐ แต่จำเลยทั้งสองไม่ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการก่อสร้าง โดยจำเลยที่ ๑ กำหนดระดับของคานทับหลังเขื่อนอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นดิน ทำให้ดินในที่ดินของโจทก์ทั้งสามไหลออกจากที่ดิน เป็นเหตุให้บ้านเรือนของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย คดีมีประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดจากการออกแบบกำหนดระดับคานทับหลังเขื่อนหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาทางระบายน้ำ การจัดให้มีและก่อสร้าง ตลอดจนการออกแบบเขื่อนดังกล่าว ก็เพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร การกระทำตามฟ้องจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๑ เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้อื่น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนกั้นดินระหว่าง นายมีชัย มังคล้าย ที่ ๑ นางสาวลำพูน สุกใส ที่ ๒ นางสาวนิ่มนวล มณีวงษ์ ที่ ๓ โจทก์กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บี.เจ. ก่อสร้าง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share