แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๓/๒๕๔๖
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาล และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
นางสุรีย์พร เหล่าวงศ์พัฒน์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลนครนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๖๓/๒๕๔๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๓๙๐๔๒, ๓๙๐๔๓, ๓๙๐๔๔, ๓๙๐๔๕ ตำบลบางเขน (ลาดโตนด) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี รวมทั้งหมด ๔ แปลง เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีทำการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินทั้ง ๔ แปลงดังกล่าว ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๙๐๔๓ และผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดียังทำการคัดค้านการรังวัดสอบเขตและให้หักแบ่งที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีจึงทำบันทึกถ้อยคำและแจ้งให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไปดำเนินการทางศาลภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการทำละเมิดต่อสิทธิและกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวและได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ศาลพิพากษาให้รื้อถอนถนนคอนกรีตออกจากบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดี และให้ทำการปรับสภาพที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิม หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจดำเนินการ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และห้ามผู้ถูกฟ้องคดีและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การต่อสู้คดีและยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้กระทำละเมิดสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี หากแต่สร้างบนถนนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาเกินกว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยมีหลักฐานการโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ถูกต้อง จึงถือว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) การก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงไม่จำต้องรับผิดตามฟ้อง และเมื่อประเด็นสำคัญแห่งคดีนี้เป็นเรื่องการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดนนทบุรี)
ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนโดยไม่ตรวจสอบเอกสารสิทธิให้ถูกต้องเสียก่อน และเพิ่งจะทำการสอบถามราษฎรที่ใช้เส้นทางพิพาทหลังจากถูกฟ้อง จึงเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีมีความเห็นว่า คดีนี้ควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองเพราะเป็นกรณีองค์กรส่วนราชการทำละเมิดต่อประชาชน นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีแล้ว แต่ศาลจังหวัดนนทบุรีไม่รับฟ้องและให้ผู้ฟ้องคดีมายื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นเวลา ๒๐ ปี เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่อ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณี และพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตำบลบางเขน (ลาดโตนด) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี การพิจารณาดังกล่าวเป็นการพิจารณาถึงสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ดังนั้น ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาและพิพากษาจึงได้แก่ศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๒๘/๒๕๔๕ ศาลปกครองกลางจึงส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อดำเนินการส่งให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง (ศาลปกครองกลาง)
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายปกครองหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีคือเทศบาลนครนนทบุรี เป็นราชการส่วนท้องถิ่น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีฐานะเป็นฝ่ายปกครอง
สำหรับประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งกันว่า การปลูกสร้างถนนคอนกรีตของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และการคัดค้านการรังวัดสอบเขตของผู้ถูกฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีได้โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การปลูกสร้างถนนคอนกรีตมิได้กระทำในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ประเด็นหลักแห่งคดีจึงเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๓๐๔ และประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างนางสุรีย์พร เหล่าวงศ์พัฒน์ ผู้ฟ้องคดี เทศบาลนครนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดนนทบุรี
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
พลโท
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (อัฏฐพร เจริญพานิช)
ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร
พลโท
(อาชวัน อินทรเกสร) (นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ