คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลลงโทษปรับจำเลย จำเลยชำระค่าปรับบางส่วนแล้ว จำเลยขอให้ศาลสั่งคืนค่าปรับโดยจำเลยขอถูกกักขังแทนค่าปรับ เช่นนี้ ศาลจะสั่งคืนค่าปรับให้จำเลยหาได้ไม่ หากจำเลยเห็นว่าจำเลยได้ชำระค่าปรับไปบ้างแล้วและชอบที่จะถูกกักขังแทนค่าปรับน้อยกว่ากำหนดที่ศาลพิพากษาไว้ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะร้องเรียนในแง่นั้น หาใช่มาขอคืนค่าปรับซึ่งชำระไว้โดยถูกต้องแล้วไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 8, 11 (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 6 ให้ปรับจำเลยทั้งสามรวมกันเป็นเงิน 3,000 บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ถ้าจะต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังแทนคนละ 4 เดือน

จำเลยทั้งสามชำระค่าปรับครบถ้วนแล้ว

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับ 4 เท่าของราคาของตามฟ้อง ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งแก้ไขอัตราโทษตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ปรับจำเลยทั้งสามรวมกัน 28,000 บาท (คือ 4 เท่าราคาของตามฟ้อง) ตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง ลดโทษ 1 ใน 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือปรับจำเลยรวมกัน 18,666 บาท 66 สตางค์ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ถ้าต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังคนละ 8 เดือน คดีถึงที่สุด

ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ชั้นแรกจำเลยทั้งสามได้เฉลี่ยแยกชำระค่าปรับรวม 3,000 บาท ไว้ต่อศาลครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ปรับจำเลยทั้งสามรวมกัน18,666 บาท 66 สตางค์ จึงยังคงเหลือค่าปรับที่จำเลยทั้งสามต้องชำระต่อศาลอีก 15,666 บาท 66 สตางค์ การปรับรวมกันเช่นนี้ไม่สะดวกเพราะจำเลยบางคนก็มีเสีย บางคนก็ไม่มีเสีย ขอให้ศาลมีคำสั่งแยกเงินค่าปรับที่เหลืออีก 15,666 บาท 66 สตางค์ ออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กันให้จำเลยรับผิดชอบในส่วนค่าปรับของตน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เฉลี่ยค่าปรับคนละ 5,222 บาท 22 สตางค์จำเลยที่ 1 จึงผ่อนชำระค่าปรับ 1 ครั้ง เป็นเงิน 300 บาท ต่อมาไม่มีเงินค่าปรับมาชำระอีก จึงได้แถลงต่อศาลขอให้กักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับ มีกำหนด 8 เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต่อมาเกือบ 1 เดือน จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าปรับส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ชำระต่อศาลชั้นต้นส่วนหนึ่งเป็นเงิน 990 บาท (หักวันต้องขังให้ 2 วัน) กับอีก 300 บาท ที่ได้ชำระไว้ภายหลัง รวมเป็นเงิน 1,290 บาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะเอาเงินค่าปรับจำนวนนี้หักลบกับวันถูกขัง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้คืนเงินจำนวนนี้

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยต้องถูกกักขังแล้ว ก็มีสิทธิที่จะได้รับค่าปรับที่ชำระไปแล้วนั้นคืน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลพิพากษาปรับ ก็ย่อมหมายความว่าจำเลยผู้ต้องคำพิพากษาจะต้องนำค่าปรับมาชำระ ส่วนวิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับก็ดี การกักขังแทนค่าปรับก็ดี เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเท่านั้น เมื่อจำเลยได้นำค่าปรับมาชำระอันเป็นการที่ถูกต้องกับคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะคืนให้จำเลย หากจำเลยเห็นว่าจำเลยได้ชำระค่าปรับไปบ้างแล้วชอบที่จะถูกกักขังแทนค่าปรับน้อยกำหนดกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไว้ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะร้องเรียนในแง่นั้น หาใช่มาขอคืนค่าปรับซึ่งชำระไว้โดยถูกต้องแล้วไม่ ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share