คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่มีผู้ครอบครองที่ดินของสามีที่ตายไปแล้วภริยาไม่จำต้องเรียกร้องเอาคืนภายใน 1 ปี ตามอายุความมรดก เพราะกรณีไม่ใช่เรียกร้องตามสิทธิของเจ้าหนี้อันมีต่อกองมรดกและไม่ใช่เป็นเรื่องพิพาทในระหว่างทายาท
การที่จะใช้กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 บังคับในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่ครอบครองที่ดินนั้น ต้องแล้วแต่ว่าที่ดินนั้นได้เป็นที่บ้านที่สวนตั้งแต่เมื่อใด คือ ก่อนหรือหลังวันที่ 1 เมษายน 2475ซึ่งเป็นวันประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน ถ้าเป็นที่บ้านที่สวนมาก่อน ก็ต้องนำเอากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จมาบังคับ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลย นายพร้อมสามีจำเลยได้ขายให้แก่ผู้ร้องเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมาจนบัดนี้ ขอให้ถอนการยึด

จำเลยแถลงคัดค้านว่า ที่พิพาทเป็นของนายพร้อมสามีจำเลยนายพร้อมกู้เงินโจทก์และมอบที่พิพาทให้ทำเป็นต่างดอกเบี้ย

โจทก์คัดค้านว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย

คู่ความรับกันว่า ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่พิพาท และที่พิพาทเป็นสวนมะพร้าวและเป็นที่มือเปล่า ไม่มีโฉนดตราจอง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิในสวนพิพาท พิพากษาให้ถอนการยึด

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาข้อที่ว่านายพร้อมตายมาแล้ว 5 ปี จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่จัดการเรียกร้องเอาที่ดินคืนภายใน 1 ปี หมดสิทธินั้นเห็นว่า การที่คนอื่นครอบครองที่ดินของสามีที่ตายไปแล้ว ภริยาไม่จำต้องเรียกร้องเอาคืนภายในหนึ่งปีตามอายุความมรดก เพราะกรณีไม่ใช่เรียกร้องตามสิทธิของเจ้าหนี้อันมีต่อกองมรดก และไม่ใช่เป็นเรื่องพิพาทในระหว่างทายาท

การที่จะใช้กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 บังคับในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่ครอบครองที่ดินรายใดหรือไม่ ต้องแล้วแต่ว่าที่ดินนั้นได้เป็นที่บ้านที่สวนตั้งแต่เมื่อใด คือ ก่อนหรือหลังวันที่ 1 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน ถ้าเป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนก็ต้องนำเอากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จมาบังคับคดีนี้ บิดาจำเลยยกให้จำเลยและนายพร้อมมา 30 ปีก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ฉะนั้น กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 จึงใช้บังคับแก่ที่พิพาทได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทไม่ถึง 10 ปี จำเลยยังไม่ขาดสิทธิในที่พิพาท

พิพากษายืน

Share