คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ แม้โจทก์มิได้แจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายไว้ ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ เนื่องจากจำเลยยังสามารถให้การต่อสู้คดีได้ว่าค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกิน 50,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลว่าจะซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1)
ขณะที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี ตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในกลางปี 2541 อายุความย่อมสะดุดหยุดลง แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 เมื่อเอกสารดังกล่าว มีข้อความว่า จำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เวลาใดจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนอย่างน้อย 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไข ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือ แจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตามหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
เอกสารใดจะใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาในแง่ว่ามีคุณค่าต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามประเด็นในคดีหรือไม่มิใช่พิจารณาจากวันเวลาที่ทำเอกสาร และแม้โจทก์ไม่อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ท. ผู้ทำเอกสารดังกล่าวก็คงจะเบิกความได้ความตามเอกสารอยู่ดี การทำเอกสารดังกล่าวขึ้นมาเป็นพียงพยานเอกสารประกอบคำเบิกความของ ท. เท่านั้น ดังนั้นแม้จะทำเอกสารขึ้นในภายหลัง โจทก์ก็ย่อมอ้างเอกสารนั้นเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างได้
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้จำเลยเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท เป็นคำขอที่ให้ศาลบังคับจำเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์และให้ยกคำขออื่น โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรงด้วย ถือเป็นกรณีที่ศาลต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์ทุกข้อ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 79468 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น เลขที่ 33/35 หมู่ที่ 10 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ดินและทาวน์เฮ้าส์ในโครงการหมู่บ้านร่มรื่นวิลล์ของจำเลยในราคาประมาณ 900,000 บาท ต่อมาเมื่อประมาณกลางปี 2541 จำเลยทุบรื้อถอนทาวน์เฮ้าส์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ ทำให้ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทรุดตัว ผนังและเพดานแตกร้าวทั้งหลัง นางพจนารถ ภริยาโจทก์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง และร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่จึงนัดจำเลยเจรจากับโจทก์ โดยจำเลยยอมรับว่า เหตุที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์และของผู้เสียหายรายอื่นเกิดการทรุดตัว เนื่องมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร จำเลยยอมรับผิดและยินดีซ่อมแซมแก้ไขอาคารที่ทรุดตัวรวมถึงทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง โดยจำเลยระบุว่าหากจะเริ่มเข้าซ่อมแซมเมื่อใดจะแจ้งให้ผู้เสียหายทุกรายรวมทั้งโจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ และพยายามบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา โจทก์มีความประสงค์ให้จำเลยซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้เสร็จสิ้นตามที่จำเลยทำหนังสือยอมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยให้ดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดต่อโจทก์ โดยกำหนดเวลาที่แน่นอนให้จำเลยเข้าซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2547 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 ต่อมาจำเลยมีหนังสือตอบปฏิเสธความรับผิดอ้างว่า ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย และเกิดขึ้นล่วงเลยระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงไม่อาจเข้าซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ได้ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือเตือนให้จำเลยดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ภายใน 7 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย การที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทรุดตัว แตกร้าวทั้งหลังสาเหตุมาจากจำเลยก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ฐานรากไม่แข็งแรง และเกิดจากการที่จำเลยทุบรื้อถอนทาวน์เฮ้าส์ข้างเคียง หลังจากฟ้องคดีแล้ว โจทก์จำเป็นต้องย้ายไปพักอาศัยที่อื่นเนื่องจากสภาพของทาวน์เฮ้าส์เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง รวมถึงซ่อมแซม ตกแต่ง ปรับปรุงส่วนต่าง ๆ ภายในซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการทรุดตัวทั้งหมดโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท กับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์หรือชดใช้ค่าเสียหายเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าประสงค์ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายบ้านหรือจะซื้อจะขายบ้านหรือโจทก์ถูกจำเลยหลอกลวงให้ซื้อบ้านตามคำพรรณา แต่ก็ไม่บรรยายว่าจำเลยเคยพรรณาอย่างไร และไม่ได้ตั้งข้อหาว่าจำเลยละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจำนวน 800,000 บาท จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม โจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องตั้งแต่กลางปี 2541 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนมกราคม 2548 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่พบเห็นความชำรุดบกพร่อง หรือหากจะนับอายุความตามหนังสือรับสภาพความรับผิดฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2542 ที่พนักงานของจำเลยทำไว้ตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ก็ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยรับสภาพความรับผิด หรือหากจะฟังว่าเป็นการเรียกให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดเนื่องจากจำเลยไปรื้อทาวน์เฮ้าส์ข้างเคียงเมื่อกลางปี 2541 ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เหตุที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทรุดตัวไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน แต่เกิดจากการที่โจทก์ต่อเติมทาวน์เฮ้าส์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยความประมาทของโจทก์เอง ส่งผลให้ฐานรากเกิดการกระทบกระเทือนและไม่สามารถรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ ที่โจทก์อ้างว่าสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้เข้าตรวจสอบทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์แล้วมีความเห็นว่าสภาพทาวน์เฮ้าส์เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย โดยระบุว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากฐานรากของอาคาร ซึ่งอาจมีปัญหาการหนีศูนย์หรือเสาเข็มรับน้ำหนักไม่ได้นั้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และเป็นเรื่องไกลกว่าเหตุ นอกจากนี้หมู่บ้านของโจทก์ยังปล่อยปละละเลยให้รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักมากเกินควรผ่านเข้าออก ทำให้บ้านภายในหมู่บ้านรวมทั้งบ้านของโจทก์และหลังอื่นได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ความเสียหายหากมีไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องก็สูงเกินส่วน ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 7,500 บาท แก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 79468 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น เลขที่ 33/35 ซึ่งเป็นที่ดินและทาวน์เฮ้าส์ในโครงการหมู่บ้านร่มรื่นวิลล์ของจำเลยในราคา 836,000 บาท และโจทก์ได้ต่อเติมที่ระเบียงคอนกรีตเสริมเหล็กด้านหน้าใช้เป็นที่จอดรถกับลานซักล้าง ด้านหลังของทาวน์เฮ้าส์เป็นห้องครัว เมื่อประมาณกลางปี 2541 ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์เกิดการทรุดตัว ผนังและเพดานแตกร้าวทั้งหลัง นางพจนารถภริยาโจทก์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง และร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2541 องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่มีหนังสือถึงนางพจนารถว่าได้ประสานงานกับจำเลยเพื่อนัดเจรจากับโจทก์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ได้แจ้งนางพจนารถว่า ตามที่นางพจนารถได้เจรจากับตัวแทนของจำเลยนั้น จำเลยได้ส่งผลการเจรจามาให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่เพื่อประสานงานกับนางพจนารถให้ทราบว่าจำเลยได้ชี้แจ้งว่าทาวน์เฮ้าส์ทรุดตัวมีสาเหตุมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร จำเลยยอมรับผิดและยินดีซ่อมแซมแก้ไขอาคารซึ่งรวมถึงทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ที่ทรุดตัวให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรง ตามหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2541 กับวันที่ 23 เมษายน 2542 กับหนังสือของจำเลยลงวันที่ 3 มิถุนายน 2541 เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.7 เหตุที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทรุดตัวจึงมีสาเหตุจากการทรุดตัวของฐานรากอาคารนั่นเอง แต่หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อโจทก์มอบหมายให้นายทวีซึ่งเป็นวิศวกรเข้าไปตรวจสอบทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ในเดือนธันวาคม 2548 โจทก์และครอบครัวยังคงอาศัยอยู่ในบ้านตามปกติ และตอนนางพจนารถภริยาของโจทก์มาเบิกความต่อศาล นางพจนารถก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงฐานความผิดที่จะให้จำเลยรับผิด ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อประมาณกลางปี 2541 จำเลยได้เข้าดำเนินการทุบรื้อถอนทาวน์เฮ้าส์ซึ่งสร้างอยู่ในแถวเดียวกันและใกล้เคียงกับทาวน์เฮ้าส์โจทก์ ส่งผลให้ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์เกิดการทรุดตัว ผนังและเพดานร้าว นางพจนารถภริยาโจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง และร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่นัดโจทก์และจำเลยมาเจรจากัน ผลการเจรจาปรากฏว่า บริษัทจำเลยยอมรับว่าเหตุที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์และของผู้เสียหายรายอื่นเกิดการทรุดตัวเนื่องมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร และจำเลยยอมรับที่จะซ่อมแซมแก้ไขอาคารที่ทรุดตัวรวมถึงทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรง แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการซ่อมแซมแต่อย่างใด โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์มีความประสงค์ที่จะให้บริษัทจำเลยซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้เสร็จตามที่จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยอีกครั้ง จำเลยได้มีหนังสือตอบปฏิเสธความรับผิดอ้างว่า ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย และความเสียหายที่เกิดขึ้นล่วงระยะเวลาความรับผิดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 800,000 บาท ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้แจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายไว้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ เนื่องจากจำเลยยังสามารถให้การต่อสู้คดีในเรื่องนี้ได้ว่าค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกิน 50,000 บาท กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ไม่ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดอันเนื่องมาจากการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องหรือให้รับผิดในมูลละเมิดตามฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เหตุการณ์ที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์แตกร้าวเกิดจากการที่จำเลยทุบรื้อถอนทาวน์เฮ้าส์ข้างเคียงเมื่อกลางปี 2541 ต่อมา โจทก์จึงได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง ตามเอกสารหมาย จ.9 แล้วร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่จนได้มีการเจรจากัน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือยอมรับว่าเหตุทาวน์เฮ้าส์ทรุดตัวเนื่องมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร และจำเลยยินดีที่จะแก้ไขอาคารที่ทรุดให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง ส่วนกำหนดเวลาที่จะเริ่มดำเนินการจะแจ้งให้ทราบในภายหน้า เนื่องจากจำเลยกำลังประสบปัญหาการเงิน ตามเอกสารหมาย จ.6 และวันที่ 5 เมษายน 2542 จำเลยได้มีหนังสือยืนยันว่าจะดำเนินการซ่อมแซมให้ แต่เหตุที่ล่าช้าเพราะอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและต่อรองหาผู้รับเหมาที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ ถ้างานออกแบบและสอบราคาจ้างเหมาเรียบร้อยระยะเวลาเริ่มซ่อมที่แน่นอน จำเลยจะแจ้งให้ทราบก่อนอย่างน้อย 30 วัน ก่อนที่จะดำเนินการซ่อมแซมอาคารให้กลับสู่ภาวะปกติตามเอกสารหมาย จ.7 เช่นนี้ การที่จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลตำบลบางรักใหญ่ว่า จะซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี ตามสิทธิเรียกร้องที่คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับตรงกันว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นในกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 เมื่อเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่าจำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์เวลาใด จำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนอย่างน้อย 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้โดยเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์เมื่อใด จำเลยจะแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ทราบอย่างน้อย 30 วัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบต่อเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตามหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เอกสารหมาย จ.12 เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์นำมานำสืบประกอบคำเบิกความของนายทวีก็เป็นเอกสารที่ทำขึ้นภายหลังจากวันฟ้องแล้ว จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับโจทก์เป็นผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า จำนวนเงิน 836,000 บาท ที่ปรากฏในสัญญาขายที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น ประกอบด้วยค่าที่ดิน 380,000 บาท และค่าสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 456,000 บาท ดังนั้นค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับ จึงไม่น่าเกินไปกว่าราคาทาวน์เฮ้าส์ในขณะที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยจำนวน 456,000 บาท โจทก์มีนางพจนารถ
และนายทวีเบิกความเป็นพยาน นายทวีเบิกความว่า พยานเป็นสามัญวิศวกรได้รับใบอนุญาต เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548 นางพจนารถติดต่อพยานให้ตรวจสอบสภาพอาคารเพื่อซ่อมแซม พยานตรวจพบว่าอาคารทรุดเอียง ตัวบ้านทรุดเอียงไปทางด้านหน้าค่อนข้างมาก สันนิษฐานว่าตัวบ้านหมายถึงเสาของบ้านอยู่ไม่ตรงกับตัวเข็ม พื้นบ้านมีลักษณะเอียง ผนังและคานมีอาการแตกร้าวโดยทั่วไปตามภาพถ่ายหมาย จ.1 โดยภาพที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นภาพถ่ายนอกอาคาร ภาพที่ 5 เป็นรั้วด้านหน้าของทาวน์เฮ้าส์ ภาพที่ 6 เป็นส่วนที่ต่อเติมด้านหน้า ภาพที่ 7 และที่ 8 เป็นภาพถ่ายภายในอาคาร ภาพที่ 9 เป็นส่วนที่ต่อเติมด้านหลังของทาวน์เฮ้าส์ พยานเห็นว่าในการซ่อมแซมต้องตรวจสอบสภาพชั้นดินในบริเวณนั้น เพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการรับน้ำหนักของดินเพื่อปักเสาเข็มว่าจะใช้เสาเข็มเท่าใดเพื่อจะได้รับน้ำหนักอาคารทั้งหลัง ประการต่อไปต้องสำรวจสภาพของเสาเข็ม โดยขุดลึกลงไปประมาณ 1 เมตร บริเวณรอบฐานราก เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มเดิม และสำรวจดูว่าจะต้องซ่อมฐานรากใหม่หรือไม่ จากนั้นต้องคำนวณน้ำหนักของอาคารที่กระทำต่อฐานราก เมื่อดูจากภายนอกเห็นฐานรากมีอยู่ประมาณ 6 ฐาน เมื่อคำนวณออกแบบเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องทำการตอกเข็มเหล็ก แล้วกดด้วยแม่แรงน้ำมัน เพื่อให้เสาเข็มเหล็กลงไปในดิน เพื่อให้ได้ความลึกที่ต้องการมีความมั่นคงแข็งแรง จะต้องตรวจสอบในเบื้องต้นว่าเสาเข็ม 6 ต้น มีความสมบูรณ์อยู่กี่ต้น เสาเข็มบางต้นเกิดการหนีศูนย์ ซึ่งเสาเข็มเดิมเป็นเสาเข็มเดี่ยว หากเกิดการชำรุดจะต้องใช้เสาเข็มเสริมเป็น 2 ต้น เพื่อให้ศูนย์กลางของฐานรากอยู่ตรงกัน เมื่อแก้ไขข้อบกพร่องข้อแรกเสร็จ ก็ต้องแก้ไขเรื่องปรับระดับพื้นอาคาร โดยจะต้องรื้อในส่วนที่เป็นปาร์เก้ออกแล้วทำการปรับระดับใหม่และซ่อมแซมส่วนที่แตกร้าวซึ่งอาจเป็นฝาผนังหรือโครงสร้างอื่น ๆ ต้องใช้กาวพิเศษสำหรับเชื่อมโครงสร้างโดยเฉพาะ พยานได้เสนอราคาซ่อมแซมแก่โจทก์จำนวน 800,000 บาท โดยค่าซ่อมฐานรากแพงที่สุดตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเอกสารนี้นายทวีได้กล่าวด้วยว่า บ้านของโจทก์มีสภาพทรุดตัวเอียงลงมาทางด้านหน้า พื้นอาคารลาดเอียงมาก เสาและคานของอาคารเกิดความเสียหาย โครงสร้างหลักและผนังโดยทั่วไปแตกร้าวทั้งอาคาร ส่วนที่ต่อเติมทั้งด้านหน้าและด้านหลังอาคารไม่มีผลกับการที่บ้านทรุด ส่วนนางพจนารถเบิกความว่า เคยขอให้สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยตรวจสอบทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ ซึ่งได้มีการสำรวจดูสภาพภายนอก และสมาคมได้มีหนังสือถึงพยานตามหนังสือของอนุกรรมการสาขาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.15 โดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 2 ธันวาคม 2547 นายสมจิตร์เลขานุการคณะอนุกรรมการแจ้งว่า คณะอนุกรรมการได้เข้าไปตรวจสอบอาคารของโจทก์ พบว่าอาคารมีความเสียหายแตกร้าวทั้งอาคาร พบความเสียหายทั้งส่วนของโครงสร้างหลัก เช่น คานและเสา เมื่อตรวจสอบจากสภาพของอาคารและอาคารข้างเคียงที่เคยเข้าไปสำรวจแล้ว ปัญหาน่าจะเกิดจากฐานรากของอาคาร ซึ่งอาจจะมีปัญหาการหนีศูนย์หรือเสาเข็มรับน้ำหนักอาคารไม่ได้ ควรให้มีการตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาทางแก้ไขและปรับปรุงโดยเร็ว เนื่องจากสภาพในปัจจุบันเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ฝ่ายจำเลยมีนายธนกรซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายตรวจสอบการก่อสร้างของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ภาพที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 เป็นส่วนที่โจทก์ต่อเติมที่ระเบียงด้านหน้า โดยภาพที่ 6 เป็นคานบนของส่วนที่ต่อเติม ภาพที่ 8 เป็นการแยกส่วนระหว่างพื้นของอาคารเดิมกับพื้นของส่วนที่ต่อเติม จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ทรุดและแยกตัวด้านนอกอาคาร ภาพที่ 9 เป็นด้านหลังของอาคารที่เดิมเว้นไว้เป็นส่วนซักล้าง ก่ออิฐสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ข้างบนจะโล่ง แต่ตามภาพถ่ายมีการก่ออิฐฉาบปูนต่อขึ้นมาจากส่วนที่จำเลยทำไว้ ด้านบนทำเป็นหลังคา รอยแยกที่เห็นเป็นส่วนนอกอาคาร ที่โจทก์ต่อเติมขึ้นมา ภาพที่ 10 เป็นภายในห้องน้ำ ส่วนที่ชำรุดทั้งด้านหน้าและด้านหลังเกิดจากการกระทำของโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์มีไม่เกิน 50,000 บาท เห็นว่า คำเบิกความของนางพจนารถและนายทวีและเอกสารสารหมาย จ.2 และ จ.15 เป็นการนำสืบในลักษณะว่าทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายหมาย จ.1 ประกอบแล้ว กลับปรากฏว่าสภาพของทาวน์เฮ้าส์ตามภาพถ่าย 11 ภาพ มีความเสียหายเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่มีสภาพที่แสดงให้เห็นถึงความทรุดเอียงของอาคารไปทางข้างหน้าอย่างที่นายทวีเบิกความ ไม่มีสภาพที่แสดงให้เห็นว่าคาน เสา และผนังภายในอาคารเดิมมีการแตกร้าวอย่างมากมาย อย่างที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.15 เช่นกัน กับโจทก์ไม่นำนายสมจิตร์มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.15 ทั้งปรากฏว่าโจทก์และครอบครัวพักอาศัยอยู่ในทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตลอดมา อย่างน้อยถึงวันที่ 28 มกราคม 2549 ที่นางพจนารถมาเบิกความต่อศาล แสดงว่านับจากกลางปี 2541 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเข้ารื้อถอนทาวน์เฮ้าส์หลังอื่น ทำให้ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทรุดตัวจนถึงเดือนมกราคม 2549 โจทก์และครอบครัวพักอยู่ในทาวน์เฮ้าส์ดังกล่าวมานานถึงประมาณ 8 ปี หากทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นอันตรายอย่างมากจริงแล้ว โจทก์และครอบครัวก็คงไม่อาจที่จะพักอาศัยต่อเนื่องกันมาดังกล่าวได้ ดังนั้นที่โจทก์นำสืบว่า โครงสร้างหลักและผนังโดยทั่วไปแตกร้าวทั้งอาคารนั้น จึงยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ แต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมา เชื่อได้ว่าน่าที่จะได้รับความเสียหายพอสมควรจากการกระทำของจำเลย ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าความเสียหายของโจทก์เป็นความผิดของโจทก์ที่ต่อเติมอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลังอาคารเดิมนั้น จำเลยก็นำนายธนกรมาเบิกความลอย ๆ เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน ข้ออ้างข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับการกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์นั้น โจทก์นำสืบค่าเสียหายตามที่นายทวีเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 แต่เมื่อคดีฟังไม่ได้ชัดแจ้งว่าทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์มีความทรุดเอียงของอาคารไปทางข้างหน้า กับคาน เสา และผนังภายในอาคารมีการแตกร้าวอย่างมากมายดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเจาะสำรวจชั้นดิน ค่างานทุบพื้นขุดเจาะดินรอบฐานรากเดิม ค่าตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็ม ค่าวิชาชีพวิศวกรในการสำรวจตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ค่างานติดตั้งเสาเข็มเหล็ก รูปตัว H ตามที่นายทวีเสนอราคาต่อนางพจนารถในข้อ 1 ถึงข้อ 5 ในเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นค่าเสียหายที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยคงต้องรับผิดค่าใช้จ่ายเฉพาะในข้อ 6 ถึงข้อ 8 เท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายที่นายทวีเสนอราคาเป็นเงิน 350,000 บาทนั้น เห็นว่า เป็นค่าเสียหายที่มากเกินไป ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท สำหรับที่จำเลยอ้างว่าหนังสือเสนอราคาเอกสารหมาย จ.2 เพิ่งทำขึ้นในภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องแล้ว จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า เอกสารใดจะใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาในแง่ว่ามีคุณค่าต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามประเด็นในคดีหรือไม่ มิใช่พิจารณาจากวันเวลาที่ทำเอกสาร และแม้โจทก์ไม่อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน นายทวีผู้ทำเอกสารดังกล่าวก็คงจะเบิกความได้ความตามเอกสารอยู่ดี การทำเอกสารดังกล่าวขึ้นมาก็เป็นพยานเอกสารประกอบคำเบิกความของนายทวีเท่านั้น ดังนั้นแม้เอกสารหมาย จ.2 จะทำขึ้นในภายหลัง แต่เมื่อเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ โจทก์ก็ย่อมอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ไปทีเดียวโดยมิได้ให้จำเลยดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตามที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท เป็นคำขอที่ให้ศาลบังคับจำเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์และให้ยกคำขออื่น โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรงด้วย ถือเป็นกรณีที่ศาลต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์ทุกข้อ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share