แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่ง มาฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยชอบและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัท ย. ผู้เอาประกันแล้ว แม้กรมธรรม์ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้โดยตรงหรือมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้ใด แต่ในการตีความสัญญาประกันภัยนี้ไม่อาจพิจารณาเฉพาะเพียงข้อความหรือลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเท่านั้น ต้องตีความให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามหลักการตีความสัญญาใน ป.พ.พ. มาตรา 368 กรณีนี้จึงต้องพิจารณาจากเอกสารหลักฐานอื่นๆ สำหรับกรมธรรม์นี้ในส่วนตารางด้านหน้าของเอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาของการประกันภัยระบุอ้างถึงใบกำกับสินค้าซึ่งตรงกับใบกำกับสินค้าที่ระบุรายละเอียดของสินค้าที่เอาประกันภัย ชื่อผู้ส่งสินค้าหรือผู้ส่งของว่า คือ บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัย และผู้รับตราส่ง คือ บริษัท น. กับระบุว่ามีการขนส่งสินค้าจากท่าเรือศรีราชาไปยังปลายทางที่ประเทศอิตาลี เมื่อพิจารณาข้อความตามตารางในด้านหน้าของกรมธรรม์ก็ปรากฏว่ามีการระบุถึงการใช้สิทธิเรียกร้อง (หากมี) หรือการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าให้ทำที่ประเทศอิตาลี และยังระบุอีกว่าในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนี้ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเหตุในทันทีเพื่อให้มีการสำรวจความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวและมีรายงานการสำรวจความเสียหายจากหรือที่ได้รับการอนุมัติจาก ก. ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลี และเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกอบกับใบตราส่งแล้วปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่ขนส่งและระบุชื่อบริษัท ย. เป็นผู้ส่งของกับบริษัท น. เป็นผู้รับตราส่ง ตรงกับที่ระบุในใบกำกับสินค้า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยมีเจตนาตกลงให้การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการชำระค่าสินไหมทดแทนทำกันที่ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นปลายทางในการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเนื่องจากผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายเช่นผู้รับตราส่งมักจะพบการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเมื่อมีการเรียกและรับสินค้านั้นที่ปลายทางแล้ว ทั้งเมื่อพิจารณาทุนประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วจะเห็นได้ว่ามีจำนวนร้อยละ 110 ของราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้าที่ระบุเป็นราคาเทียบข้างเรือที่ท่าเรือต้นทาง (FAS) ซึ่งเป็นจำนวนทุนประกันภัยตามปกติของการประกันภัยสินค้าในการขนส่ง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำนวนทุนประกันภัยดังกล่าวได้รวมค่าระวางการขนส่งสินค้าและหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของผู้เอาประกันภัย ด้วยหลักฐานเอกสารที่มีความเชื่อมโยงกันดังกล่าว ประกอบกับได้ความตามที่พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามติงใจความว่า การประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลมีระเบียบวิธีปฏิบัติในการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าจะชำระแก่ผู้ได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายตามลักษณะในคดีนี้จะชำระให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามสัญญาซื้อขายคือผู้รับตราส่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าในประเทศอิตาลี จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างความถูกต้องแท้จริงของพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวและไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการประกันภัยกับการชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมีวิธีปฏิบัติอย่างอื่นมิได้เป็นไปตามที่โจทก์นำสืบมาแต่อย่างใด จำเลยโต้แย้งในคำให้การเพียงว่าไม่มีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้เป็นที่ทราบและมีการตกลงระหว่างบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยปริยายแล้วว่าให้บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศอิตาลีเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น บริษัท น. จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเนื่องจากวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่จำต้องมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งกรณียังถือได้ว่า บริษัท น. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย อันเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 11.1 ที่กำหนดว่า ในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยฉบับนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย (In order to recover under this insurance the Assured must have an insurable interest in the subject – matter insured at the time of loss) ซึ่งผู้เอาประกันภัย (the Assured) ในความหมายของการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ย่อมหมายความรวมถึงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยตามเจตนาของโจทก์ผู้รับประกันภัยและบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยที่ได้ตกลงกันโดยปริยายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัท ย. ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าดังกล่าวและเป็นผู้ส่งสินค้าที่ขายให้แก่บริษัท น. ในประเทศอิตาลีกับเป็นผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายและสูญหายของสินค้านั้นระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล โดยผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า 14 หีบห่อ จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการเดินเรือและใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เป็นยานพาหนะ จำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าระวางการขนส่งแล้วออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยระบุให้บริษัท น. ผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง และใบตราส่งนี้ได้โอนไปยังบริษัท น. ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อสินค้าถึงปลายทาง ผู้รับตราส่งพบว่าสินค้าได้รับความเสียหาย 3 หีบห่อ บริษัท น. ผู้รับโอนใบตราส่งจึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งอันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ในขณะเกิดวินาศภัยโดยไม่จำต้องให้บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ดังกล่าวก่อน การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้บริษัท น. จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปโดยชอบด้วยข้อ 11.1 ในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่งได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 960,665.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัดมาฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยชอบและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสี่ให้รับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง โดยอ้างว่าโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ทำนองว่า ผู้รับตราส่งไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้รับโอนสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามกฎหมาย แม้โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับตราส่งไป ก็ไม่ได้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าโจทก์มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ได้ ในปัญหาข้อนี้เมื่อพิจารณาตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันแล้ว แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้โดยตรงหรือมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้แก่ผู้ใด แต่ในการตีความสัญญาประกันภัยนี้ไม่อาจพิจารณาเฉพาะเพียงข้อความหรือลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเท่านั้น แต่ต้องตีความให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตามหลักการตีความสัญญาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 กรณีนี้จึงต้องพิจารณาจากเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ประกอบการตีความสัญญาประกันภัยทางทะเลตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยนี้ในส่วนตาราง (Schedule) ด้านหน้าของเอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาของการประกันภัยระบุอ้างถึงใบกำกับสินค้าเลขที่ อี 145 (Invoice No. E145) ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ซึ่งตรงกับใบกำกับสินค้าตามสำเนาใบกำกับสินค้าได้ระบุถึงรายละเอียดของสินค้าที่เอาประกันภัย ชื่อผู้ส่งสินค้าหรือผู้ส่งของว่าคือบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยและชื่อผู้รับตราส่งคือบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด กับระบุว่ามีการขนส่งสินค้านั้นจากท่าเรือศรีราชาในประเทศไทยไปยังปลายทางที่ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เมื่อกลับมาพิจารณาข้อความตามตารางในด้านหน้าของกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ก็ปรากฏว่ามีการระบุถึงการใช้สิทธิเรียกร้อง (หากมี) หรือการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าให้ทำที่ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี และยังระบุอีกว่าในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนี้ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเหตุในทันทีเพื่อให้มีการสำรวจความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าและมีรายงานการสำรวจความเสียหายจากหรือที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทกัสทัลดีอินเตอร์เนชันแนลเอส.อาร์.แอล. ซึ่งอยู่ที่เมืองเจนัว ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี และเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัย ประกอบกับใบตราส่งซึ่งถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลและเอกสารสิทธิในสินค้าที่ขนส่งแล้วปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุถึงรายละเอียดของสินค้าที่ขนส่งและระบุชื่อบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด เป็นผู้ส่งของ กับบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง ตรงกับที่ระบุในใบกำกับสินค้า การประกันภัยในการขนส่งสินค้าครั้งนี้มีทุนประกันภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 874,500 ดอลลาร์สหรัฐ จากข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์ผู้รับประกันภัยมีเจตนาตกลงให้การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการชำระค่าสินไหมทดแทนทำกันที่ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งเป็นปลายทางในการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเนื่องจากผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายเช่นผู้รับตราส่งมักจะพบการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเมื่อมีการเรียกและรับสินค้านั้นที่ปลายทางแล้ว ทั้งเมื่อพิจารณาทุนประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุไว้จำนวน 874,500 ดอลลาร์สหรัฐแล้วจะเห็นได้ว่ามีจำนวนสูงเกินกว่าร้อยละ 110 ของราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้าที่ระบุเป็นราคาเทียบข้างเรือที่ท่าเรือต้นทาง (FAS) จำนวน 629,059.88 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนทุนประกันภัยเป็นจำนวนทุนประกันภัยตามปกติของการประกันภัยสินค้าในการขนส่ง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำนวนทุนประกันภัยได้รวมค่าระวางการขนส่งสินค้าและหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไว้ด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยด้วยหลักฐานเอกสารที่มีความเชื่อมโยงกันดังกล่าว ประกอบกับได้ความตามที่นางภรธนาหรือจุรีรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ “NON – MOTOR” แผนกประกันภัยทางทะเลและขนส่งบริษัทโจทก์มาเบิกความตอบคำถามติงใจความว่า การประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีระเบียบวิธีปฏิบัติในการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าจะชำระแก่ผู้ได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายตามลักษณะในคดีนี้จะชำระให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามสัญญาซื้อขายคือผู้รับตราส่ง ซึ่งได้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้ซื้อสินค้าในประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำพยานหลักฐานใดมาสืบหักล้างความถูกต้องแท้จริงของพยานเอกสารของโจทก์และไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการประกันภัยกับการชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมีวิธีปฏิบัติอย่างอื่นมิได้เป็นไปตามที่โจทก์นำสืบมาแต่อย่างใดจำเลยโต้แย้งในคำให้การเพียงว่าไม่มีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัยได้เป็นที่ทราบและมีการตกลงระหว่างบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยปริยายแล้วว่าให้บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศสาธารณรัฐอิตาลีเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเนื่องจากวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นหลักฐานสัญญาประกันภัยทางทะเลนี้โดยไม่จำต้องมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ ทั้งกรณียังถือได้ว่าบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัยอันเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 11.1 ที่กำหนดไว้ว่า ในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยฉบับนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย (In order to recover under this insurance the Assured must have an insurable interest in the subject – matter insured at the time of loss) ซึ่งผู้เอาประกันภัย (the Assured) ในความหมายของการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ ย่อมหมายความรวมถึงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยตามเจตนาของโจทก์ผู้รับประกันภัยและบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยที่ได้ตกลงกันโดยปริยายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าโครงเหล็กสำหรับสร้างโรงงานไฟฟ้าและเป็นผู้ส่งสินค้าที่ขายให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐอิตาลี กับเป็นผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายและสูญหายของสินค้านั้นระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล โดยผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจำนวน 4,158 ชิ้น บรรจุในหีบห่อจำนวน 14 หีบห่อ น้ำหนักรวมจำนวน 226,392 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าโดยใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการเดินเรือและใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เป็นยานพาหนะในการขนส่งจากท่าเรือศรีราชา ประเทศไทย ไปยังท่าเรือออกัสตา ประเทศสาธารณรัฐอิตาลีเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าระวางการขนส่งแล้วออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยระบุให้บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล และใบตราส่งนี้ได้โอนไปยังบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่งแล้วเมื่อขนส่งสินค้าถึงปลายทางมีการขนถ่ายสินค้านั้นขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่ง ผู้รับตราส่งพบว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนักรวมจำนวน 59,992 กิโลกรัม เช่นนี้ บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับโอนใบตราส่งจึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งดังกล่าวผู้มีสิทธิรับมอบสินค้าที่ขนส่ง บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับประโยชน์โดยปริยายตามที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งอันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ในขณะเกิดวินาศภัยอันเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากโจทก์โดยตรง โดยไม่จำต้องให้บริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ให้ก่อน การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้ที่มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ในขณะเกิดวินาศภัย จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปโดยชอบด้วยข้อ 11.1 ในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารับช่วงสิทธิจากบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัยมาเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจำนวน 20,340.15 ยูโร ที่ได้ชดใช้ให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ไปตามใบรับช่วงสิทธิและใบโอนเงิน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 จากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งซึ่งเอาประกันภัยไว้ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าเมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ได้รับโอนสิทธิของผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอกซึ่งได้ก่อวินาศภัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งเป็นเพราะความผิดของบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งไว้แก่โจทก์โดยบริษัทดังกล่าวบรรจุหีบห่อไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่เหมาะสมแก่สภาพแห่งของที่ส่งหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ปัญหาดังกล่าวศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้นำสืบพยานหลักฐานในปัญหาดังกล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ไปโดยไม่ย้อนสำนวน ปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหายแห่งสินค้าที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นผู้เข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่ง จึงต้องฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลที่ได้ชดใช้ให้แก่ผู้รับตราส่งจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง ในปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า เรือเดินทะเล “CEC SVENDBORG” ที่รับขนสินค้าโครงเหล็กสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าตามคำฟ้องเดินทางถึงปลายทาง ณ ท่าเรือออกัสตา ประเทศสาธารณรัฐอิตาลีและทำการส่งมอบสินค้านั้นให้แก่บริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2549 จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่ผู้รับตราส่งในวันที่ 11 กันยายน 2549 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ ส่วนปัญหาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งเป็นเพราะความผิดของบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งไว้แก่โจทก์โดยบริษัทดังกล่าวบรรจุหีบห่อไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่เหมาะสมแก่สภาพแห่งของที่ส่งและจำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น โจทก์มีนายกันต์ ผู้จัดการโครงการบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่า วิธีการบรรจุหีบห่อสินค้าโครงเหล็กสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าได้ใช้วิธีการทำโครงเหล็กครอบสินค้านั้นไว้ทั้งหมดแล้วใช้แผ่นผ้าใบขึงทับโครงเหล็กดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง ตามแบบแปลนโครงเหล็กแสดงการบรรจุหีบห่อสินค้า บริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ขนส่งด้วยวิธีนี้มานานประมาณ 7 ถึง 8 ปี แล้ว โดยไม่มีปัญหาในการขนส่งโดยใช้วิธีการนี้ ซึ่งในปัญหานี้นางสาววิภาวดี พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ก่อนรับสินค้าขึ้นเรือหากทางเรือเห็นชัดเจนจากภายนอกว่าหีบห่อแตกหักเสียหาย ก็สามารถปฏิเสธไม่รับขนส่งสินค้าขึ้นเรือได้ และตามปกติสายการเดินเรือมีสิทธิขอตรวจสอบสภาพการบรรจุหีบห่อสินค้าได้หากเห็นว่าหีบห่อมีการบรรจุไม่เหมาะสมแก่การขนส่งหรือไม่แข็งแรงเพียงพอแก่การขนส่ง ใบตราส่งเป็นใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่บริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ตามใบตราส่งไม่ปรากฏข้อความว่าสินค้าบรรจุหีบห่อไม่เหมาะสมหรือไม่แข็งแรงสำหรับการขนส่งทางทะเล จากคำเบิกความของนายกันต์พยานโจทก์และนางสาววิภาวดีพยานจำเลยที่ 1 เมื่อรับฟังประกอบกับรายงานการสำรวจความเสียหายของสินค้าที่ขนส่ง ซึ่งระบุสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลมาจากการที่เรือที่ขนส่งเผชิญกับสภาวะอากาศที่ย่ำแย่ในระหว่างการเดินทาง แต่ที่ยิ่งกว่านั้นเป็นเพราะการบรรทุกสินค้าที่ไม่เหมาะสมและการผูกมัดที่ไม่ดีซึ่งตรวจสอบพบขณะที่เรือมาถึง ณ ท่าเรือออกัสตา และข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีเอกสารโต้แย้งบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้ส่งสินค้าว่าหีบห่อสินค้าโครงเหล็กสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับขึ้นเรือนั้นไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่เหมาะสมแก่สภาพแห่งสินค้าแต่อย่างใดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งเป็นเพราะความผิดของบริษัทยูโรเทคเอ็นจิเนียริงอินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งไว้แก่โจทก์โดยบริษัทดังกล่าวบรรจุหีบห่อไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่เหมาะสมแก่สภาพแห่งของที่ส่ง เมื่อสินค้าที่ขนส่งบุบสลายหรือได้รับความเสียหายก่อนส่งมอบให้ผู้รับตราส่ง จึงรับฟังได้ว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าที่ขนส่งนั้นมิได้บุบสลายหรือได้รับความเสียหายเพราะความผิดของผู้ส่ง จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นจึงต้องร่วมกันรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งต่อผู้รับตราส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 และ 45 สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่ง หีบห่อหมายเลข 1 หมายเลข 8 และหมายเลข 10 น้ำหนักจำนวน 59,992 กิโลกรัม นั้น โจทก์นำสืบว่า บริษัทกัสทัลดีอินเตอร์เนชันแนล เอส.อาร์.แอล. ผู้สำรวจภัยและบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่งได้ร่วมกันตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งแล้วเห็นว่า แม้สินค้าที่ขนส่งจะได้รับความเสียหายแต่ยังคงอยู่ในสภาพที่สามารถซ่อมแซมได้ จึงได้มอบหมายให้บริษัทนูวาเมตทัลคอสตรูซินี จำกัด มาซ่อมแซมโดยเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 20,340.15 ยูโร ตามสำเนาใบแจ้งหนี้ รวมจำนวน 4 ฉบับ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งจำนวนค่าเสียหาย ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 เป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร ต่อ 47.23 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 960,665.28 บาทตามสำเนาใบโอนเงินพร้อมคำแปลแล้ว จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทนูเตอร์อีริกเซน จำกัด ผู้รับตราส่ง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า กรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ไม่คุ้มครองสินค้าที่บรรจุอยู่บนดาดฟ้าเรือเว้นแต่จะบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เห็นว่า ข้อที่จำเลยที่ 1 นำสืบดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอันเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 960,665.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 11 กันยายน 2550 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ