คำวินิจฉัยที่ 31/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๔๖

วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพัทยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ศาลผู้ส่งจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
นายสิน อารุณโน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลบางเสร่ ที่ ๑ กับสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๐/๒๕๔๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยมาเป็นเวลา ๔๖ ปี ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือที่ ชบ ๐๐๒๒.๔/๘๖๗ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๕ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปชี้ระวางแนวเขตและลงชื่อรับรองเขตที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตทางสาธารณประโยชน์ ต่อมา ช่างโยธาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้วางหลักหมุดใหม่ที่ไม่ตรงกับหลักเดิม และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนนที่มีผิวจราจรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าเป็นทางสาธารณะ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังได้มีหนังสือที่ ชบ ๕๓๖๐๓/๑๓๐ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนบ้านส่วนที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในเขตทางสาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนคำสั่งรื้อถอนบ้านและระงับการก่อสร้างถนนที่ผ่านหน้าบ้านของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถอนและปักหลักหมุดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า อาคารบ้านของผู้ฟ้องคดีส่วนที่เป็นชายคาบ้านได้ยื่นล้ำเข้าไปในเขตทางสาธารณประโยชน์เป็นพื้นที่ประมาณ ๑๐ ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือที่ ชบ ๕๓๖๐๓/๑๓๐ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ล้ำเขตทางสาธารณะ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแต่อย่างใด ภายหลังเมื่อทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตทางสาธารณประโยชน์ ก็ปรากฏว่า ส่วนของบ้านผู้ฟ้องคดีได้ยื่นล้ำเข้าไปในเขตทางสาธารณประโยชน์จริง ดังนั้น การออกคำสั่งรื้อถอนจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุจะเพิกถอน สำหรับเรื่องการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้เว้นระยะการก่อสร้างถนนส่วนที่อยู่ติดบริเวณหน้าบ้านของผู้ฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุจะต้องระงับการก่อสร้าง ขอให้ศาลยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การรังวัดเป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกฎหมายแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีได้นำเดินสำรวจออกโฉนดปักหลักเขตที่ดินและนำรังวัดแบ่งแยกปักหลักเขตที่ดินด้วยตนเอง คำฟ้องและคำขอบังคับของผู้ฟ้องคดีไม่มีมูล ขอให้ศาลยกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้ปลูกอาคารรุกล้ำที่สาธารณะการปักหมุดที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ โดยใช้วิธีลากเส้นตรงแทนการลากเส้นโค้งตามแนวที่ดินเดิมเป็นไปโดยมิชอบ ผู้ฟ้องคดีลงชื่อยอมรับไปโดยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน นอกจากนี้ การก่อสร้างถนนคอนกรีตตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการจงใจกลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องแสดงความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีว่า การฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองนั้นชอบแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องจะต้องวินิจฉัยว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์เพียงใด แต่เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือผิดพลาดอย่างไร
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คำฟ้องในคดีนี้เป็นกรณีการพิจารณาสิทธิในที่ดินที่พิพาทระหว่างคู่กรณีซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕ และ ๓๐/๒๕๔๕
ศาลจังหวัดพัทยาเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำให้การแล้ว ผู้ฟ้องเป็นเอกชน ผู้ถูกฟ้องเป็นหน่วยงานของรัฐ และตามคำขอของผู้ฟ้องคดีเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการโต้แย้งการกระทำของหน่วยงานของรัฐ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีขอให้เพิกถอนคำสั่งรื้อบ้านและระงับการก่อสร้างถนน รวมทั้งคำขอให้ปักหลักหมุดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะโต้แย้งกันว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของผู้ฟ้องคดีแต่เป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีนี้ต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาเรื่องสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลัก อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓๐/๒๕๔๕ และ ๓๒/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นายสิน อารุณโน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลบางเสร่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดพัทยา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วลัยมาศ แก้วศรชัย

Share