คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์รับหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นประกันการให้สินเชื่อ หรือรับหุ้นของธนาคารพาณิชย์จากธนาคารพาณิชย์อื่นเป็นประกันการให้สินเชื่อ การที่จำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ ให้ ร. กู้เบิกเงินเกินบัญชี ถือเป็นการให้สินเชื่อตามมาตรา 4 แม้จำเลยจะใช้สิทธิยึดหุ้นของจำเลยจาก ร. ผู้ถือหุ้นไว้เป็นประกันหนี้สินตามข้อบังคับของจำเลยเมื่อ ร. ตกลงจำนำหุ้นไว้กับโจทก์แล้ว อันเป็นการยึดภายหลังจากการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือการให้สินเชื่อแก่ ร. ก็มีผลเท่ากับจำเลยรับหุ้นของตนเองเป็นประกันการชำระหนี้จึงเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อบังคับของจำเลยในส่วนที่ให้จำเลยมีสิทธิยึดหุ้นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นหนี้จำเลยไว้เป็นประกันต่างหนี้สินได้ก่อนบุคคลอื่นจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ร. ผู้ถือหุ้นของธนาคารจำเลยได้จำนำหุ้นไว้กับโจทก์โจทก์กับ ร. จึงบอกกล่าวการจำนำหุ้นถึงจำเลยทั้งสองเพื่อจดแจ้งการจำนำลงไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น จำเลยปฏิเสธ จึงขอให้พิพากษาบังคับ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิดหลายประการรวมทั้งต่อสู้ว่าจำเลยอาจยึดหุ้นของ ร. ไว้เป็นประกันต่างหนี้สินได้ก่อนบุคคลอื่นตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 12(3) และ (7) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 10 บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์รับหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นประกันการให้สินเชื่อหรือรับหุ้นของธนาคารพาณิชย์จากธนาคารพาณิชย์อื่นเป็นประกันการให้สินเชื่อ การที่จำเลยที่ 1 ให้บริษัทโรงงานน้ำตาลธนบุรี จำกัด กู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ถือเป็นการให้สินเชื่อตามความหมายของวิเคราะห์ศัพท์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522มาตรา 3 แม้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 จากบริษัทโรงงานน้ำตาลธนบุรี จำกัด ผู้ถือหุ้น ไว้เป็นประกันต่างหนี้สินตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 เมื่อบริษัทโรงงานน้ำตาลธนบุรี จำกัด ตกลงจำนำหุ้นดังกล่าวไว้กับโจทก์อันเป็นการยึดภายหลังจากการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือการให้สินเชื่อแก่บริษัทโรงงานน้ำตาลธนบุรี จำกัด ก็มีผลเท่ากับจำเลยที่ 1 รับหุ้นของตนเองเป็นประกันการให้สินเชื่อ อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามบทกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหุ้นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันต่างหนี้สินได้ก่อนบุคคลอื่นจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิยกข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 ในส่วนดังกล่าวเป็นข้ออ้างที่จะไม่รับจดแจ้งการจำนำหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดแจ้งการจำนำหุ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทโรงงานน้ำตาลธนบุรี จำกัด ลงไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมจดแจ้งก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

Share