คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึงสัญญาของผู้เข้าทำงานที่จำเลยทำกับโจทก์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของจำเลย และรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพราะปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเฉพาะมิใช่เรื่องละเมิด เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3ลักษณะ 6 มิได้กำหนดอายุความไว้ คดีโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164 จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างตามฟ้องโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรงเพราะตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงินที่จำเลยดำรงอยู่นั้นเป็นผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า มีระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 72 กำหนดส่วนงานของกองรักษาเงิน และระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 กำหนดหน้าที่ของผู้รักษาเงินซึ่งเป็นคนละส่วนกัน จำเลยเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินจึงไม่ใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 นั้นอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่อาจหยิบยกประเพณีหรือทางปฏิบัติมาเป็นข้อแก้ตัวจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หละหลวม มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร กับจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ช่วยของจำเลยทุจริต การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง จำเลยมิได้ทุจริตมิได้ประมาทหรือบกพร่องต่อหน้าที่ โจทก์ไม่มีระเบียบข้อบังคับคำสั่งให้จำเลยจดแจ้งจำนวนเงินนำเข้าออก จำเลยได้มอบหมายงานในหน้าที่ให้ผู้ช่วยของจำเลยไปแล้ว หากจำเลยต้องรับผิดก็รับผิดเพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายอันเป็นไปตามสภาพการทำงานระหว่างจำเลยกับผู้ช่วยของจำเลยนั้น จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2529 ขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงิน เมื่อสิ้นเวลาทำการแล้วคณะกรรมการรักษาเงินสดของจำเลยได้ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือกับหลักฐานทางบัญชี ปรากฏว่าเงินขาดบัญชีจำนวน 500,000 บาท จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยได้ทำบันทึกถึงหัวหน้าฝ่ายการบัญชีเมื่อวันที่15 กรกฎาคม 2529 โจทก์ทวงถามให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนนี้แล้ว แต่จำเลยตอบปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่14 กรกฎาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็นค่าดอกเบี้ย75,000 บาท กับให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินจำนวน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามหนังสือที่ คน.222/2530 ลงวันที่ 11 เมษายน 2530จำเลยตอบปฏิเสธตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2530 นับถึงวันฟ้องจึงเกินหนึ่งปีคดีขาดอายุความ จำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างเงินจำนวน 500,000 บาท ที่สูญหายไม่ใช่เกิดจากความผิดของจำเลย หากจะฟังว่าจำเลยมีความผิดก็จะเป็นความผิดทางวินัยซึ่งโจทก์ได้ลงโทษจำเลยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันฟ้องแต่ไม่ให้เกิน 75,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของเงินจำนวน 500,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์อ้างข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่โจทก์ทวงถาม คดีจึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องโดยอ้างถึงสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำฟ้อง (เอกสารหมาย จ.4) กับกล่าวอ้างข้อเท็จจริงถึงตำแหน่งและหน้าที่ของจำเลย กับรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเฉพาะ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 มิได้กำหนดอายุความไว้ คดีของโจทก์จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 กรณีหาใช่เป็นเรื่องละเมิดอันมีอายุความหนึ่งปีดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยไม่
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการตรวจสอบและการรักษาเงินประจำวัน มีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับสำนักงานสาขา มิได้ใช้บังคับกับสำนักงานส่วนกลางส่วนกองรักษาเงินปรากฏตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 9ซึ่งต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ใช้ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 27 ที่ 45 ที่ 62 ที่ 69 และที่ 72 ดังนั้น หัวหน้ากองรักษาเงินจึงมิใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 4 การตีความของศาลแรงงานกลางจึงคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องศาลฎีกาพิเคราะห์ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 69 ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและกำหนดหน้าที่ของธนาคารออมสินเอกสารหมาย จ.7แล้ว ปรากฏว่าได้กำหนดให้มีการตั้งกองรักษาเงินโดยให้ขึ้นกับฝ่ายการบัญชีตามข้อ 9 และกำหนดหน้าที่ไว้ตามข้อ 12 ว่ากองรักษาเงินมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับ การจ่าย การเก็บรักษาเงินสดและหลักทรัพย์ตราสารของธนาคารออมสิน และโจทก์บรรยายฟ้องถึงหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินว่า มีหน้าที่รับและส่งเงินจากหน่วยงานภายในสำนักงานใหญ่ และจากธนาคารออมสินต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วยนำส่งเงินแก่ผู้ฝากตามที่ธนาคารออมสินต่าง ๆ ขอความร่วมมือ ดังนี้ จำเลยจึงต้องมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรง อันเป็นข้ออ้างถึงหน้าที่ของจำเลยโดยแจ้งชัดอยู่แล้ว ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 72 กำหนดส่วนงานของกองรักษาเงินไว้ และตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4เป็นเรื่องกำหนดหน้าที่ของผู้รักษาเงินซึ่งเป็นส่วนงานคนละส่วนกัน จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินจึงไม่ใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคาร ฉบับที่ 4 ตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในปัญหาข้อนี้ว่า กองรักษาเงินมีหน้าที่รับและส่งเงินจากหน่วยงานภายในสำนักงานใหญ่และจากธนาคารออมสินสาขาต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และช่วยนำเงินส่งให้แก่ผู้ฝากตามที่ธนาคารออมสินสาขาต่าง ๆ จะขอความร่วมมือมาเป็นครั้งคราว จำเลยจึงมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรง ฉะนั้น ตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงินที่จำเลยดำรงอยู่จึงเป็นผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4ว่าด้วยการตรวจสอบและรักษาเงินประจำวันข้อ 1 ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างของโจทก์ไว้ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุใด อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหายเพราะจำเลยมิได้ทุจริต มิได้กระทำโดยประมาทหรือบกพร่องต่อหน้าที่ โจทก์ไม่เคยมีข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งให้จำเลยจดแจ้งจำนวนเงินที่นำเข้าและออก จำเลยได้มอบหมายงานในหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยของจำเลยแล้วจากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงได้ความว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ทำให้โจทก์เสียหายและไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างนั้น เป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่า จำเลยไม่อาจหยิบยกประเพณีหรือทางปฏิบัติมาเป็นข้อแก้ตัว จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง มีความหละหลวมและมิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควรอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 92 ว่าด้วยความรับผิดชอบของพนักงานธนาคารออมสินในทางแพ่งกำหนดว่าเมื่อผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้รีบพิจารณาสั่งการให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ถ้าเห็นว่าผู้ใดต้องรับผิดก็ให้ดำเนินคดีเรียกร้องให้ชดใช้ภายใน 90 วัน แต่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ระเบียบการธนาคารออมสินที่จำเลยอ้างนั้น เป็นข้อกำหนดที่วางวิธีปฏิบัติงาน และกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยมีจุดประสงค์ให้งานต่าง ๆ ได้เป็นไปโดยถูกต้องและรวดเร็ว แม้โจทก์จะได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็หาเป็นการตัดสิทธิของโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยชอบ
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า หากจะให้จำเลยต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจะต้องรับผิดเพียง 250,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามสภาพการทำงานระหว่างจำเลยกับผู้ช่วยของจำเลยตามที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดโดยจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ช่วยของจำเลยกระทำการโดยทุจริตดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ขอให้ ศาลฎีการับฟังว่าผู้ช่วยของจำเลยได้กระทำการอันหนึ่งอันใดซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share