คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5695/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สถานประกอบการโจทก์ที่เจ้าพนักงานของจำเลยนำหนังสือแจ้งการประเมินไปส่งเป็นภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของโจทก์ ในวันนั้นมีพนักงานของโจทก์อยู่ที่สถานประกอบการแต่ไม่มีผู้ใดยินยอมรับหนังสือแจ้งการประเมิน เพราะหากพนักงานของโจทก์ยินยอมรับหมาย ก็ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานของจำเลยจะต้องไปเชิญเจ้าพนักงานตำรวจทำการปิดหมาย จึงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของเจ้าพนักงานของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่ชอบตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คู่กรณีมีสิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงหรือป้องกันสิทธิของตนได้…” และวรรคสองบัญญัติว่า “การตรวจดูเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการตรวจดูเอกสาร หรือการจัดทำสำเนาเอกสารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” เมื่อพิจารณามาตรา 31 ดังกล่าวทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกัน จะเห็นได้ว่า การตรวจดูเอกสารหาใช่เป็นบทบัญญัติที่รับรองเพียงแต่สิทธิในการตรวจดูเอกสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดทำสำเนาเอกสารด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.3/1.1 – 1.4/2552 จำนวน 4 ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 และขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 และกรณีไม่ใช่การขอแก้ไขถ้อยคำที่พิมพ์ผิดพลาด จึงไม่อนุญาต โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลาง ที่ไม่อนุญาตตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ภายหลังศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ กรณีจึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรในการพิจารณาและมีคำสั่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ดังกล่าว คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว และเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดที่ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของโจทก์ แต่รับเป็นคำแถลงการณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 โดยโจทก์ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลชำระไว้เกินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 และปี 2546 เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจวิเคราะห์งบการเงินและแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และขออนุมัติออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรเพื่อตรวจสอบภาษี ซึ่งได้รับอนุมัติให้ออกหมายเรียกดังกล่าวและได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2548 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินถึงโจทก์ ประกอบด้วย หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 จำนวน 1 ฉบับ เลขที่ กค 0710.05/3.5/01 ไม่มีภาระภาษี แต่จากการปรับปรุงการคำนวณกำไรสุทธิใหม่ทำให้ผลขาดทุนสุทธิเปลี่ยนแปลงไป มีผลขาดทุนสะสมยกไปลดลง หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เลขที่ ภ.ง.ด. 73.1 – 02011030 – 25510114 – 002 – 00001 มีภาษีต้องชำระ 52,651.03 บาท เบี้ยปรับ 52,651.03 บาท เงินเพิ่ม 34,749.68 บาท รวมเป็นเงิน 140,051.74 บาท หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายสำหรับปี 2545 และปี 2546 เลขที่ ภ.ง.ด. 73.1 – 02011030 – 25510114 – 002 – 00002 มีภาษีต้องชำระ 9,840.74 บาท เงินเพิ่ม 8,985.05 บาท รวมเป็นเงิน 18,825.79 บาท และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2545 ถึงธันวาคม 2546 เลขที่ ภพ. 73.1 – 02011030 – 25510114 – 005 – 00074 ถึง 00086 จำนวน 13 ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2551 มีภาษีต้องชำระ 670,081.03 บาท เบี้ยปรับ 1,051,220.11 บาท เงินเพิ่ม 504,841.90 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน พิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทุกประเภทภาษี ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.3/1.1 – 1.4/2552 จำนวน 4 ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า การอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกเป็นการปฏิบัติทางปกครองและต้องมีการแจ้งคำสั่งทางปกครองดังกล่าวให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า การออกหมายเรียกเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 19 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อ้างต่อไปว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมินไม่ปรากฏว่าเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการออกหมายเรียกนั้น โจทก์ไม่นำสืบว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในการออกหมายเรียกที่โจทก์อ้างไม่มีอำนาจในการออกหมายเรียกเพราะเหตุใด จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมินไม่ปรากฏว่าเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการออกหมายเรียกดังที่โจทก์อ้าง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า การส่งหนังสือแจ้งการประเมินและใบแนบหนังสือแจ้งการประเมิน ชอบด้วยมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้นในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นผู้รับนั้นก็ได้” และมาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า “กรณีไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้ หรือบุคคลนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ใช้วิธีปิดหมายหนังสือแจ้ง หรือหนังสืออื่นแล้วแต่กรณี ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น หรือบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย หรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้นก็ได้” ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่า สถานประกอบการโจทก์ที่เจ้าพนักงานของจำเลยนำหนังสือแจ้งการประเมินไปส่งให้แก่โจทก์เป็นภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของโจทก์ และในวันที่ 15 มกราคม 2551 กรรมการโจทก์มิได้อยู่ที่สถานประกอบการโจทก์ สำหรับการส่งหนังสือแจ้งการประเมิน ที่จำเลยมีนางสาวแก้วขวัญเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีและรายงานการปิดหมายที่ดาบตำรวจธนิสรลงลายมือชื่อเป็นพยาน ยืนยันว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 ช่วงเช้า นางสาวแก้วขวัญและเจ้าพนักงานของจำเลยได้นำหนังสือแจ้งการประเมินไปส่งให้แก่โจทก์ ณ สถานประกอบการ ในวันนั้นมีพนักงานของโจทก์อยู่ในสถานประกอบการแต่ไม่มีผู้ใดยินยอมรับหนังสือแจ้งการประเมินนั้น มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะหากพนักงานของโจทก์ยินยอมรับหมายจากเจ้าพนักงานของจำเลย ก็ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานของจำเลยจะต้องไปเชิญเจ้าพนักงานตำรวจมาทำการปิดหมาย ส่วนที่โจทก์มีนางสุชาณัฐเบิกความว่า ช่วงเช้าเจ้าพนักงานของจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจมาที่สถานประกอบการโจทก์ ปิดหนังสือแจ้งการประเมินที่หน้าประตูที่ทำการโจทก์ทันที ทั้งที่มีพนักงานของโจทก์นั่งทำงานอยู่เป็นจำนวนมากนั้น การเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นการเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เจ้าพนักงานของจำเลยกับเจ้าพนักงานตำรวจไปดำเนินการปิดหมาย มิใช่เหตุการณ์ในเวลาที่เจ้าพนักงานของจำเลยไปส่งหนังสือแจ้งการประเมินในครั้งแรกแล้วไม่มีผู้ใดในสถานประกอบการโจทก์ยินยอมรับหนังสือแจ้งการประเมินอันเป็นเหตุให้ต้องมีการปิดหนังสือแจ้งการประเมินในเวลาต่อมา พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 ช่วงเช้า เจ้าพนักงานของจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานประกอบการโจทก์ ปิดหนังสือแจ้งการประเมินที่หน้าประตูที่ทำการโจทก์ทันที ทั้งที่มีพนักงานของโจทก์นั่งอยู่เป็นจำนวนมาก อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 ดังที่โจทก์อ้าง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ เห็นว่า เนื้อหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า การกระทำของเจ้าพนักงานของจำเลยเป็นการปฏิเสธสิทธิของโจทก์ในการตรวจดูเอกสารเพื่อโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 31 โดยมาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คู่กรณีมีสิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงหรือป้องกันสิทธิของตนได้…” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การตรวจดูเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการตรวจดูเอกสาร หรือการจัดทำสำเนาเอกสารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” เมื่อพิจารณามาตรา 31 ดังกล่าวทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกัน จะเห็นได้ว่า การตรวจดูเอกสารตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นบทบัญญัติที่รับรองเพียงแต่สิทธิในการตรวจดูเอกสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดทำสำเนาเอกสารด้วย ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์ขอตรวจสอบและขอคัดถ่ายเอกสารเพื่อใช้ประกอบการยื่นคำอุทธรณ์การประเมินสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาจำเลยโดยนายนิยม สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 11 พิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยมีความเห็นว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบทุกประเด็น และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ได้ชี้แจงคัดค้านในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ประกอบกับใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินก็ได้แจ้งรายละเอียดประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นผลให้ประเมินภาษีเพิ่มเติมไว้แล้ว ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ก็สามารถดำเนินการได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องขอเอกสารไปประกอบกับคำชี้แจงอีก เพราะทราบรายละเอียดทุกประเด็นอยู่แล้ว ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 31 มกราคม 2551 สำหรับชั้นแจ้งผลการตรวจสอบภาษีให้แก่โจทก์ทราบ แม้จำเลยมีนางสาวแก้วขวัญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรรายโจทก์ เบิกความว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้ให้โอกาสโจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจมาให้ถ้อยคำชี้แจงพร้อมส่งเอกสารประกอบหลายครั้ง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 วันที่ 2 มีนาคม 2549 แต่ก็ปรากฏว่าภายหลังการแจ้งผลการตรวจสอบภาษี เจ้าพนักงานของจำเลยได้ปรับปรุงผลการตรวจสอบให้โจทก์มีภาษีอากรที่ต้องประเมินเปลี่ยนแปลงไปจากผลการตรวจสอบเดิม โดยมีผลต่างสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 20,565.73 บาท และมีผลต่างสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นเงิน 5,830,320.45 บาท แล้วจำเลยโดยนายนิยม สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 11 มีคำสั่งเห็นชอบให้มีการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรตามผลการตรวจสอบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งผลการตรวจสอบที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแก่โจทก์ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 9 มกราคม 2551 แสดงว่า โจทก์ยังมิได้รับทราบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายหรือเหตุผลในการตรวจสอบภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลตามการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินตามผลการตรวจสอบภาษี ก็ปรากฏว่า นอกจากเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีจากเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินยังนำเอกสารหลักฐานอื่นใช้ในการประเมินภาษีด้วย กล่าวคือ สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ส่วนรายได้ มีข้อมูลสอบยันกับหน่วยราชการอื่น ส่วนรายจ่าย มีข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้รับเหมางานจากโจทก์ หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่คัดจากระบบเครือข่ายรัษฎากร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีข้อมูลสอบยันกับส่วนราชการอื่นและเอกสารทางบัญชีที่เกี่ยวข้อง สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ส่วนรายได้ มีข้อมูลสอบยันกับหน่วยราชการอื่น ข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (4117) ของกรมสรรพากรและผลสอบยันข้อมูลกับสำนักชลประทาน ที่ 15 อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนรายจ่าย มีข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้รับเหมางานจากโจทก์ หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่คัดจากระบบเครือข่ายรัษฎากร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีข้อมูลสอบยันกับส่วนราชการอื่นและเอกสารทางบัญชีที่เกี่ยวข้อง ตามผลการตรวจสอบ โดยทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าเอกสารทั้งหลายดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์สามารถจัดหาได้ด้วยตนเองโดยวิธีการอื่นใด ทางพิจารณายังได้ความต่อไปตามบันทึกข้อความที่จัดทำโดยเจ้าพนักงานของจำเลย เจ้าพนักงานของจำเลยอนุญาตให้โจทก์ตรวจดูและคัดลอกรายละเอียดเอกสารได้ทุกฉบับ แต่กลับไม่อนุญาตให้โจทก์จัดทำสำเนาเอกสาร ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ไม่มีเอกสารฉบับใดที่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่า กรณีมีเหตุยกเว้นโดยกฎหมายห้ามมิให้โจทก์ตรวจดูเอกสาร และไม่มีเหตุผลพิเศษอื่นใดอีกที่เจ้าพนักงานของจำเลยนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์จัดทำสำเนาเอกสาร ตามพฤติการณ์ดังกล่าวทั้งหมดไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า โจทก์มีหลักฐานเพียงพอที่จะใช้ประกอบการยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และการที่เจ้าพนักงานของจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์คัดสำเนาเอกสารนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยมีคำสั่งโดยไม่ปรากฏเหตุยกเว้นตามกฎหมายหรือเหตุผลพิเศษอื่นใดอีก ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์จัดทำสำเนาเอกสารจึงเป็นการปฏิเสธสิทธิของโจทก์ในการตรวจดูเอกสารเพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงหรือป้องกันสิทธิของตน อันไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 31 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อการขอตรวจดูและจัดทำสำเนาเอกสารของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแต่เกิดก่อนที่โจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรให้เพิกถอนเฉพาะคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์จัดทำสำเนาเอกสารที่โจทก์มีสิทธิตรวจดูได้ตามกฎหมายเพื่อประกอบการจัดทำคำอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้จัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า หนังสือแจ้งการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง รายละเอียด และเหตุผลอย่างชัดแจ้ง ทั้งไม่ใช่กรณีที่ไม่ต้องแสดงเหตุผลอันเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และใบแนบหนังสือแจ้งการประเมิน เป็นเอกสารที่ไม่มีการลงนามของเจ้าพนักงานและการส่งใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินไม่ชอบด้วยมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ทางพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานของจำเลยจัดทำใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินเพื่อให้หนังสือแจ้งการประเมินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว การส่งใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว จำเลยจึงยังสามารถดำเนินการได้ก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนเฉพาะคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์จัดทำสำเนาเอกสารที่โจทก์มีสิทธิตรวจดูได้ตามกฎหมายเพื่อประกอบการจัดทำคำอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้จัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share