คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 798/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์.ศาลชั้นต้นเพียงแต่สั่งรับอุทธรณ์ส่งสำเนาอีกฝ่ายเพื่อแก้ แต่มิได้กำหนดวันให้ผู้อุทธรณ์จัดการส่งเมื่อปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ไม่นำเจ้าพนักงานศาลส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเกินกำหนด 15 วัน ไป 6 วัน นับแต่วันศาลสั่งรับอุทธรณ์นั้นยังไม่พอถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์อันถึงกับจะให้จำหน่ายคดี
ส่วนกำหนดระยะเวลา 15 วัน ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 174 ข้อ 1 นั้นหมายความเฉพาะในชั้นยื่นฟ้องและขอหมายเรียกให้จำเลยแก้คดีเท่านั้น

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อ 8 กันยายน 2497 ว่า “รับอุทธรณ์ส่งสำเนาอีกฝ่ายเพื่อแก้” แต่จำเลยมิได้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 15 วัน จนวันที่ 29 กันยายน 2497 จำเลยจึงมาขอนำเจ้าพนักงานศาลเพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทิ้งฟ้องจึงส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่ง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174, 246 จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตาม มาตรา 132 อ้างฎีกาที่ 1253/2494

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องทิ้งฟ้องนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 บัญญัติไว้เป็น 2 ข้อ ความในข้อ 1 นั้นหมายความว่า เมื่อโจทก์เสนอคำฟ้องแล้วเพิกเฉยไม่ขอให้ส่งหมายเรียกให้จำเลยแก้คดี ฯลฯ ภายใน 15 วันให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ส่วนความในข้อ 2 นั้น เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ฯลฯ จึงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

กรณีจำเลยยื่นอุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมเป็นหน้าที่จำเลยจะขอหมายนัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ แต่ในคำสั่งศาลชั้นต้นมิได้กำหนดวันให้จำเลยมาจัดการดำเนินคดีคือขอหมายนัดส่งสำเนาอุทธรณ์ ฉะนั้นการที่จำเลยมาขอหมายนัดภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเพียง 20 วันจึงไม่เป็นเหตุพอให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง เพราะในคำสั่งศาลมิได้กำหนดวันให้จำเลยต้องปฏิบัติไว้ ส่วนกำหนด 15 วันตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 1 นั้นหมายความเฉพาะในชั้นยื่นฟ้องและขอหมายเรียกให้จำเลยแก้คดีเท่านั้นจะนำมาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้

จึงพิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

Share