คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15114/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนและบุคคลอื่น บทบัญญัติมาตราใดที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นจะต้องสิ้นสิทธิจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตามมาตรา 41 (5) บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือนนั้น หมายถึงกรณีที่ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบไม่ครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างแท้จริง
ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 39 วรรคสี่ ให้สิทธิผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบได้โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ เมื่อโจทก์นำเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 ไปชำระแก่จำเลยในวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ซึ่งจำเลยได้รับไว้ก่อนที่จำเลยมีหนังสือแจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่จำเลยผ่อนผันให้โจทก์นำส่งเงินสมทบของเดือนดังกล่าวล่าช้าโดยไม่ตัดสิทธิความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์นำส่งเงินสมทบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว
ภายในระยะเวลา 12 เดือนนับแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550 โจทก์เพียงแต่ขาดส่งเงินสมทบของเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม 2549 โจทก์จึงส่งเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลา 10 เดือน เกินกว่า 9 เดือน ตามที่มาตรา 41 (5) กำหนดไว้แล้ว โจทก์ยังไม่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและยังคงเป็นผู้ประกันตนตลอดมา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นไป จึงไม่ถูกต้องและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือที่ รง 0621/49431 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2550 และคำวินิจฉัยที่ 1497/2550 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2550 ให้โจทก์มีสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือที่ รง 0621/49431 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2550 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1497/2550 ของจำเลย ให้โจทก์มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นไป
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2535 และเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2535 โจทก์ส่งเงินสมทบตลอดมาจนกระทั่งปี 2547 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้วโจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลยให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ตลอดมา จนกระทั่งระหว่างเดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550 โจทก์ไม่ส่งเงินสมทบประจำเดือนมิถุนายน 2549 เดือนธันวาคม 2549 เดือนมีนาคม 2550 และเดือนเมษายน 2550 ซึ่งโจทก์จะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละครั้งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่โจทก์เพิ่งนำเงินสมทบประจำเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายไปชำระให้จำเลยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ตามใบเสร็จรับเงิน ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2550 จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าโจทก์ไม่ส่งเงินสมทบประจำเดือนมิถุนายน 2549 เดือนธันวาคม 2549 เดือนมีนาคม 2550 และเดือนเมษายน 2550 จึงสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามหนังสือที่ รง 0621/49431 โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบหนังสือดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2550 และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งพิจารณาแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1497/2550 แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ส่งเงินสมทบประจำเดือนมิถุนายน 2549 เดือนธันวาคม 2549 เดือนมีนาคม 2550 และเดือนเมษายน 2550 นั้น แม้เป็นการขาดส่งเงินสมทบเป็นเวลา 4 เดือน อันมีผลทำให้ภายใน 12 เดือน โจทก์ส่งเงินสมทบมาแล้วเพียง 8 เดือน ไม่ครบ 9 เดือน แต่ตามบทบัญญัติมาตรา 39 วรรคสี่ ซึ่งให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่ส่งเงินสมทบสามารถจ่ายเงินสมทบภายหลังจากที่ครบกำหนดการจ่ายเงินสมทบตามที่กำหนดไว้ในวรรคสามได้แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนนั้น เป็นบทบัญญัติที่เยียวยาแก้ไขผู้ประกันตนที่ไม่ส่งเงินสมทบภายในกำหนดไม่ว่าจะเป็นการจงใจหรือเข้าใจผิดหรือหลงลืมก็มีสิทธิจะส่งเงินสมทบในภายหลังได้เพื่อที่ผู้ประกันตนจะได้เป็นผู้ประกันตนต่อไปโดยผู้ประกันตนจะต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย เมื่อปรากฏว่าวันที่ 8 มิถุนายน 2550 โจทก์นำเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายสำหรับเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 ไปชำระโดยจำเลยรับเงินดังกล่าวไว้ จึงเป็นการชำระเงินสมทบก่อนที่จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2550 แจ้งโจทก์ว่าการเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลง โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ดังที่จำเลยอ้างแต่ประการใด โจทก์ยังคงเป็นผู้ประกันตนต่อไปตามมาตรา 39 การที่จำเลยมีหนังสือที่ รง 0621/49431 แจ้งว่าโจทก์สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1497/2550 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 39 วรรคสี่ และมาตรา 41 (5)
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าตามมาตรา 41 (5) กำหนดให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน โดยให้สิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน การรับเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มในภายหลังหาทำให้สิทธิของโจทก์ที่สิ้นสุดลงกลับมาเกิดสิทธิอีกครั้งไม่ มาตรา 39 วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติสำหรับผู้ประกัน ตนขาดส่งเงินสมทบตามปกติ มิใช่กรณีที่มีการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนไปแล้วตามมาตรา 41 (5) นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนและบุคคลอื่น บทบัญญัติมาตราใดที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นจะต้องสิ้นสิทธิจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด การที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 41(5) บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน นั้น จึงหมายถึงกรณีที่ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบไม่ครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างแท้จริง คดีนี้โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีหน้าที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละครั้งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามมาตรา 39 วรรคสาม หากผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ตามมาตรา 39 วรรคสี่ให้สิทธิผู้ประกันตนส่งเงินสมทบที่ไม่ส่งหรือส่งไม่ครบจำนวนนำส่งเงินสมทบได้ โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 ไปชำระแก่จำเลยในวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ซึ่งจำเลยได้รับไว้ก่อนที่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในวันที่ 20 มิถุนายน 2550 จึงเป็นกรณีที่จำเลยผ่อนผันให้โจทก์นำส่งเงินสมทบของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยล่าช้าได้โดยยังไม่ตัดสิทธิความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าโจทก์นำส่งเงินสมทบในเดือนดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ดังนั้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550 โจทก์เพียงแต่ขาดส่งเงินสมทบของเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม 2549 เท่านั้น ภายในระยะเวลา 12 เดือนดังกล่าว โจทก์จึงส่งเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลา 10 เดือน เกินกว่า 9 เดือน ตามที่มาตรา 41 (5) กำหนดไว้แล้ว การที่จำเลยมีหนังสือที่ รง 0621/49431 และคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1497/2550 ว่าโจทก์สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เนื่องจากภายในระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550 โจทก์นำส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน จึงไม่ชอบ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นไปนั้น เมื่อถือได้ว่าโจทก์นำส่งเงินสมทบของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550 โจทก์ส่งเงินสมทบเกินกว่า 9 เดือน มิใช่กรณีตามที่มาตรา 41 (5) กำหนดไว้ โจทก์จึงไม่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ยังคงเป็นผู้ประกันตนตลอดมา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษากรณีดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้องและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้โจทก์มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share