คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14954/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามมาตรา 448 วรรคสอง นั้น หมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำความผิดโดยเฉพาะ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งมิได้ร่วมกระทำความผิดอาญา แต่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งกรณีปัญหาในคดีนี้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้น หาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.239 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 132,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 ตุลาคม 2544) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามมาตรา 448 วรรคสอง นั้น หมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำความผิดโดยเฉพาะ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งมิได้ร่วมกระทำความผิดอาญา แต่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งกรณีปัญหาในคดีนี้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้น หาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เนื่องจากตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันทำละเมิด คือ วันที่ 10 เมษายน 2543 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2544 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้ออื่น ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลประกอบกับการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share