คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดค่าเสียหายเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ สำหรับข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญามาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่ว่าผู้ร้องไม่ส่งมอบงานงวดที่ 3 ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2554 เพื่อปรับปรุงงานงวดที่ 3 ของกรมการค้าภายในและไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2554 กับคณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานงวดที่ 3 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากนั้นคณะกรรมการตรวจรับงานยังประชุมกับคณะทำงานของผู้คัดค้านอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ร้องไม่เข้ามาดำเนินการใดในงวดที่ 3 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยเห็นว่าข้อแก้ตัวต่างๆของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบแล้ว การยอบรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลแพ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านจำนวน 513,561.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ศาลแพ่งพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องชำระเงิน 500,000 บาท แก่ผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำคำชี้ขาด (วันที่ 12 มีนาคม 2557) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของผู้ร้องให้เป็นพับ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องอุทธรณ์ประการแรกว่า คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดค่าเสียหายเกินไปจากข้อเรียกร้องแย้ง เพราะเพียงอนุมานว่าปริมาณงานที่ผู้คัดค้านต้องทำแทนผู้ร้องมีมูลค่าเท่าใด และสูญเสียโอกาสของผู้คัดค้านเป็นจำนวนเงินเท่าใด ประการที่สองว่าคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ ผู้ร้องไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า ตามข้อเรียกร้องแย้งระบุว่าค่าใช้จ่ายที่ผู้คัดค้านต้องทำงานงวดที่ 3 แทนผู้ร้อง และค่าสูญเสียโอกาสที่ผู้คัดค้านไม่สามารถรับงานอื่นเป็นเงิน 2,414,250 บาท เมื่อหักเงินค่าจ้างงวดที่ 3 ที่ผู้คัดค้านไม่ต้องจ่ายแก่ผู้ร้องจำนวน 710,000 บาท คงเหลือเงินที่ผู้ร้องต้องรับผิดชำระแก่ผู้คัดค้านจำนวน 1,704,250 บาท คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านได้รับชำระค่าจ้างงวดที่ 3 จากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้วจำนวน 1,420,000 บาท ถ้าจะได้รับชดใช้จากผู้ร้องอีก 710,000 บาท น่าจะสูงเกินไปจึงเห็น สมควรกำหนดให้ผู้ร้องชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท แก่ผู้คัดค้าน ดังนั้นการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ สำหรับข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญามาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่ว่าผู้ร้องไม่ส่งมอบงานงวดที่ 3 ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2554 เพื่อปรับปรุงงานงวดที่ 3 ของกรมการค้าภายในและไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2554 กับคณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานงวดที่ 3 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากนั้นคณะกรรมการตรวจรับงานยังประชุมกับคณะทำงานของผู้คัดค้านอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ร้องไม่เข้ามาดำเนินการใดในงวดที่ 3 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อแก้ตัวต่างๆ ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคำพิพากษาของศาลแพ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
พิพากษายกอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share