แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหน้าที่ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เยาว์และอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมของผู้เยาว์ในส่วนที่โจทก์ยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินดังกล่าวให้โจทก์กับมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้ผู้เยาว์ คำขอดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในส่วนที่โจทก์ยกให้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ชอบ กรณีดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้ให้ทรัพย์สินแก่ผู้เยาว์ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการทรัพย์สินในส่วนดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1577 ประกอบมาตรา 56
ในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 โยกย้ายทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้ผู้เยาว์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ได้กระทำการโยกย้ายทรัพย์สินของผู้เยาว์จริง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เด็กหญิง ก. เป็นบุตรสาวคนเล็กของนายนพ โรจนวานิช กับจำเลยที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2530 หลังจากที่นายมานพและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 เด็กหญิง ก. อยู่ภายใต้การดูแลของจำเลยที่ 1 โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2529 และได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2530 แต่ได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 ระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลทรัพย์สินบางส่วนของโจทก์และดูแลเด็กหญิง ก. ภายหลังจดทะเบียนสมรส โจทก์มีเจตนาที่จะมอบทรัพย์สินและรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนการศึกษาในอนาคตของเด็กหญิง ก. แต่โจทก์ไม่ไว้วางใจเกรงว่าจำเลยที่ 1 จะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ จึงกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงว่า ถ้าโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะต้อแยกทางกันและจำเลยที่ 1 แต่งงานใหม่ โจทก์จะเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินในส่วนที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. โจทก์ได้แบ่งทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้เด็กหญิง ก. โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2531 ซึ่งในขณะนั้นเด็กหญิง ก. มีอายุเพียง 8 เดือน ทรัพย์สินบางส่วนที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. โดยที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้ มีรายการดังต่อไปนี้
(ก) เดือนมกราคม 2531 ถึงเดือนกันยายน 2534 จำเลยที่ 1 รับเงินไว้เดือนละ 5,000 บาท รวม
เป็นเงิน 225,000 บาท
(ข) เดือนมกราคม 2533 ถึงเดือนกันยายน 2534 จำเลยที่ 1 รับเงินไว้เดือนละ 30,000 บาท รวม
เป็นเงิน 630,000 บาท
(ค) วันที่19 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์มอบเงินจำนวน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 เพื่อไปซื้อสลาก
ออมสินจำนวน 10,000 บาท เลขที่ ล7639158 ถึง ล7649157 มีระยะเวลาครบกำหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 โดยมอบรายได้จากรางวัลสลากออมสินทุกเดือนและดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนให้เด็กหญิง ก. และในวันเดียวกันโจทก์ได้ทำหนังสือระบุให้โจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. ถ้าจำเลยที่ 1 แต่งงานใหม่ตามเงื่อนไขที่โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ก่อนจะยกทรัพย์สินให้เด็กหญิง ก. ต่อมาเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันแล้ว โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหาผลประโยชน์จากอำนาจปกครองเด็กหญิง ก. โดยจำเลยที่ 1 ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 ก่อนที่จะจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ และได้ร่วมกันโยกย้ายทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและเพื่อปกปิดการกระทำดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอต่อกรมประชาสงเคราะห์ว่าจำเลยที่ 2 ได้อุปการะเด็กหญิง ก. มาเป็นระยะเวลานานแล้ว และได้จดทะเบียนรับเด็กหญิง ก. เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2536 และได้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายเข้ามาจัดการทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขที่โจทก์ระบุถึงบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน และจำเลยทั้งสองไม่ยินยอมแจ้งให้โจทก์ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งปรากฏว่าทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. นั้นได้ถูกโยกย้ายและนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวจนหมดแล้ว โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงเงื่อนไขข้อตกลงห้ามจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินดังกล่าว และโจทก์จะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1577 ที่บัญญัติรับรองการกำหนดเงื่อนไขของผู้ให้ และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว พร้อมกับทรัพย์สินให้โจทก์เป็นผู้ดูแล แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธอ้างว่าการจัดการทรัพย์สินของเด็กหญิง ก. เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1571 โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหญิง ก. ไม่มีอำนาจปกครอง ไม่สามารถจัดการทรัพย์สิน และจำเลยที่ 2 ก็ไม่ยินยอมที่จะส่งมอบและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยอ้างเหตุผลตามมาตรา 1571 เช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว เพราะในกรณีปกติในการจัดการทรัพย์สินทุกชนิดของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะเป็นผู้จัดการตาม มาตรา 1571 ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง แต่ก็มีกฎหมายมาตรา 1577 บัญญัติว่า ห้ามผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวมีเงื่อนไขให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้จัดการ ทรัพย์สินเช่นว่านี้ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือบิดามารดาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ให้ที่ได้ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับผู้เยาว์โดยมิชอบ และร่วมกันจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิด จนเกิดความเสียหายจนเป็นเหตุอันสมควรที่ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินกล่าวคือ
(ก) จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้เอกสารอันเป็นเท็จ และอำนาจปกครองโดยมิชอบ จำเลยที่ 2 อ้าง
เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1571 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเลิกรับเด็กหญิง ก. เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ยอมแก้ไขทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และจำเลยที่ 1 ยังยินยอมให้จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดมา
(ข) จำเลยทั้งสองได้ร่วมกัน นำทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้เด็กหญิง ก. ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
โดยไม่ยินยอมให้ผู้ใดเข้ามายุ่งเกี่ยว อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดา ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของเด็กหญิง ก. ได้ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหน้าที่ผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ กับมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. ด้วย
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว วินิจฉัยว่าไม่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์เป็นญาติของเด็กหญิง ก. ผู้เยาว์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 แต่งงานใหม่อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 จะต้องมอบสิทธิดูแลเด็กหญิง ก. ผู้เยาว์พร้อมกับทรัพย์สินที่โจทก์มอบสิทธิให้จำเลยที่ 1 ดูแลแทนผู้เยาว์กลับคืนโจทก์ทั้งหมดตามบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหน้าที่ผู้จัดการทรัพย์สินผู้เยาว์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เยาว์และอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมของผู้เยาว์ในส่วนที่โจทก์ยกทรัพย์สินให้แก่เด็กหญิง ก. ผู้เยาว์ และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินดังกล่าวให้โจทก์กับมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้ผู้เยาว์ ซึ่งคำขอดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในส่วนที่โจทก์ยกให้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ชอบ กรณีดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้ให้ทรัพย์สินแก่ผู้เยาว์ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการทรัพย์สินในส่วนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1577 ประกอบมาตรา 56 และในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 โยกย้ายทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้เด็กหญิง ก. ผู้เยาว์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ได้กระทำการโยกย้ายทรัพย์สินของผู้เยาว์จริง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่