แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไม่เหมาะสมกับสภาพทรัพย์เท่ากับอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มีจำนวนต่ำเกินสมควรตามบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542จำเลยยื่นฎีกาภายหลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ มีผลบังคับใช้แล้วคำร้องของจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของวรรคสี่แห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวซึ่งบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้เป็นที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงร่วมกันชำระเงิน 13,242,739.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 12,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เพื่อไถ่ถอนจำนอง ส่วนจำเลยที่ 3ตกลงร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามฟ้อง 11,035,616.44 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,000,000บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ โดยจำเลยทั้งสามตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยบังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 29183 และ 35248 พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระยินยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามยอมเมื่อครบกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 และขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ไปในราคา 5,990,000 บาทจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างเหตุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายในราคาไม่เหมาะสมกับสภาพทรัพย์ โดยขายในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 เมื่อถึงวันนัดโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกัน โดยโจทก์ยินยอมให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเพื่อนำที่ดินทั้งสองแปลงและสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดใหม่โดยจำเลยที่ 1 จะหาบุคคลมาสู้ราคาในการขายทอดตลาดครั้งใหม่ หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาบุคคลมาสู้ราคาในราคาที่สูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายแล้ว จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ดำเนินการขายทอดตลาดไปให้เสร็จสิ้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดใหม่ โจทก์เสนอราคา 5,990,000 บาท ฝ่ายจำเลยที่ 1ไม่ได้นำบุคคลอื่นมาสู้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าไม่มีผู้เสนอราคาสูงกว่าที่โจทก์เสนอ จึงขายให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ขายให้โจทก์ไม่เหมาะสมกับสภาพทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปไม่เหมาะสมกับสภาพทรัพย์เท่ากับอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มีจำนวนต่ำเกินสมควรตามบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิวรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542กรณีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 ภายหลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ มีผลบังคับใช้แล้ว คำร้องของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ภายใต้บังคับของวรรคสี่ แห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวซึ่งบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้เป็นที่สุด ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยที่ 1