แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดอันเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่าย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 และจำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2543 แต่มติคณะรัฐมนตรีและประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่กำหนดให้พนักงานได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว จึงไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ที่ 3 ได้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 6 เดือน หรือ 180 วัน เท่านั้น ไม่มีสิทธิได้รับจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 8 เดือน และโจทก์ที่ 3 มีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 8 เดือน แต่จำเลยที่ 2 จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้าเพียงคนละ 6 เดือน ยังขาดอยู่คนละ 2 เดือน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และบังคับให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่ยังขาดให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 82,240 บาท 96,180 บาท 111,860 บาท 126,860 บาท และ 93,900 บาท ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งห้าสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 สมัครใจเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดอันเป็นการลาออกเอง จำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และจำเลยที่ 2ได้จ่ายเงินต่างๆ ตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษ 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเท่ากับค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไปครบถ้วนแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คงมีสิทธิได้รับแต่เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานจำนวน 6 เท่าของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้จ่ายให้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าว่า โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดอันเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่าย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 และจำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเพียง 6 เท่าของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2543 ในวันที่โจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่ออกตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ยังให้ใช้บังคับต่อไป ข้อ 47 กำหนดให้พนักงานที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับ หรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้ทำงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 5 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แม้บทเฉพาะกาลมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 จะบัญญัติว่า บรรดาคำร้อง คำร้องทุกข์ และข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 และยังมิได้มีการพิจารณาวินิจฉัยถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มีความหมายแต่เพียงว่าบรรดาคำร้อง คำร้องทุกข์ และข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 และยังมิได้มีการพิจารณาวินิจฉัยถึงที่สุดยังคงมีอยู่ ไม่ตกไปหรือไม่สิ้นผลตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ที่ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ไปด้วย กระบวนการเกี่ยวกับคำร้อง คำร้องทุกข์ และข้อเสนอดังกล่าวยังต้องดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติแรงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 จนถึงที่สุดเท่านั้น โดยบทเฉพาะกาล มาตรา 96 มิได้บัญญัติให้ผลของการดำเนินการมีผลย้อนหลัง แม้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2544 คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างระดับผู้ปฏิบัติงาน (ผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าลงมา) ผู้มีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานซึ่งปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และต่อมาคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จะได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง ว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การใช้แรงงานหญิง การหักเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด และการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ซึ่งในข้อ 7 ระบุให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายลงมา และได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน มติคณะรัฐมนตรีและประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวก็ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ที่ 3 ได้ ฉะนั้นไม่ว่าการที่โจทก์ที่ 3 ร่วมร้องทุกข์ให้ปรับปรุงจำนวนเงินค่าชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 เพิ่มขึ้น จะเป็นการร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ที่ยังมิได้มีการพิจารณาวินิจฉัยถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ใช้บังคับ ตามความในบทเฉพาะกาล มาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และส่งผลให้มีการปรับปรุงเพิ่มจำนวนเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่พนักงานซึ่งเกษียณอายุที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายลงมา และได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วันหรือไม่ โจทก์ที่ 3 ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงเพิ่มเติมดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 6 เดือนหรือ 180 วันเท่านั้น ไม่มีสิทธิได้รับเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไป”
พิพากษายืน